พล.ต.ท.วิชิต ปักษา รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กล่าวถึงปัญหาของสถานศึกษา
ในสังกัดของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 218 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน ตชด. จำนวน 168 โรง และศูนย์การเรียน ตชด. จำนวน 50 ศูนย์ ว่า ปัญหาประการแรกคือในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 20 เป็นโรงเรียนที่เดินทางยากลำบากมากไม่สามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ในทุกฤดู
“นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนด้อยโอกาส และส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไม่รู้ภาษาไทย จึงเป็นอุปสรรคต่อการจัด
การเรียนการสอน ประกอบกับเด็กนักเรียนมักขาดเรียนบ่อยอันมีสาเหตุจากการเดินทางที่ยากลำบากโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน มีการอพยพย้ายตามผู้ปกครอง และประสบปัญหาภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการเรียนรู้ของเด็ก” พล.ต.ท.วิชิตกล่าว
พล.ต.ท.วิชิต กล่าวต่อไปว่า ปัญหาประการต่อมาคือการไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาที่เพียงพอ เนื่องจาก บช.ตชด. ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ทำให้โรงเรียนสังกัด บช.ตชด. มีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารและจัดการศึกษามาโดยตลอด อาทิ ครู รร.ตชด.ส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือมีแต่ก็ไม่ตรงตามสาขาวิชา แม้จะมีความพยายามพัฒนาครู รร.ตชด. ให้ได้รับวุฒิทางการศึกษา เช่น การให้ทุนสนับสนุน การปรับเวลาเรียนให้สอดคล้องกับสภาพการทำงาน การศึกษาทางไกล
แต่ด้วยข้อจำกัด เช่น ภาระงานที่หนักหลายด้านจึงทำให้ครูส่วนหนึ่งต้องตัดสินใจหยุดการศึกษากลางคัน ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางเนื่องจากที่ตั้งของบางโรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงห่างไกลคมนาคม ท้ายที่สุดจึงไม่สามารถศึกษาต่อได้จนสำเร็จตามหลักสูตร นอกจากนี้การจัดหลักสูตรเป็นมาตรฐานเดียว ทำให้รายวิชาตามหลักสูตรไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการปฏิบัติงานของครู รร.ตชด.
ด้วยเหตุนี้จึงมีความร่วมมือกันระหว่างกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข และพัฒนาคุณภาพครู” ให้กับโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทั้ง 218 แห่ง ซึ่งตนหวังว่าจะช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. 2562 ครูสังกัด ตชด.กว่า 2,000 คนจาก 218 โรงเรียน ได้ลงพื้นที่เพื่อค้นหาและคัดกรองนักเรียนที่มีความยากลำบาก
ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตามแนบตะเข็บชายแดนทั้งหมดโดยกรอกข้อมูลลงในระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE ของ กสศ.
ทำให้ขณะนี้ กสศ. มีฐานข้อมูลที่สามารถชี้เป้านักเรียนที่มีความยากลำบากใน รร.ตชด. ที่แสดงสถานะความยากจนด้อยโอกาส ภาระพึ่งพิง สภาพที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งระบบการคัดกรองดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนสังกัดอื่นๆ
ที่ร่วมโครงการกับ กสศ. ทั้งหมด และสามารถติดตามผลการช่วยเหลือได้เป็นระยะทั้งการมาเรียน ผลการเรียน สุขภาพ ได้ตลอดเวลา
“ที่ผ่านมานักเรียนในโรงเรียนสังกัดบช.ตชด. ไม่เคยได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนมาก่อน ในขณะที่สภาพความเป็นจริงนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะทางบ้านยากจนด้อยโอกาส และอาจให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของบุตรหลานค่อนข้างน้อย เพราะต้องดิ้นรนทำงานเพื่อการยังชีพเป็นหลัก ประกอบกับสภาพพื้นที่อยู่อาศัยมีความยากลำบากในการเดินทาง พื้นที่เสี่ยงภัยตามแนบตะเข็บชายแดน ทำให้นักเรียนเหล่านี้มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา” นพ.สุภกร ระบุ
ผจก.กสศ. ยังกล่าวอีกว่า ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ในปีการศึกษา2562 กสศ. จะจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. โดย ล่าสุด ครู ตชด.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน บันทึกข้อมูลนักเรียนเข้ามาในระบบ iSEE จำนวน 15,787 คน คัดกรองเรียบร้อยแล้วจำนวน 13,037 คน คิดเป็นร้อยละ 82 โดยนักเรียนกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200/คน/เดือน โดยคาดว่าจะมีการแจ้งรายชื่อนักเรียนทั้งหมดที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองของ กสศ. ภายในสิ้นเดือนก.ค. 2562
ด้าน นายอุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษากสศ. กล่าวว่า นอกจากงบประมาณช่วยเหลือนักเรียนแล้ว กสศ. ยังส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพครูในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. ด้วย เช่น การพัฒนาครูประจำการ
การเพิ่มทักษะด้านวิชาการ เทคนิคการเรียนการสอน การเพิ่มวุฒิการศึกษาให้จบปริญญาตรี โดยเฉพาะการที่ กสศ. มีโครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” เพื่อสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนด้อยโอกาสจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศในพื้นที่ห่างไกลที่อยากเป็นครู
ด้วยการสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา รุ่นละ 300 ทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 ทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ทำให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียน ตชด. ที่ต้องการจะเป็นครูและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ก็สามารถขอรับทุนจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเมื่อเรียนจบแล้วก็จะได้กลับมาเป็นครูในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง โครงการนี้จะสามารถแก้ปัญหาครูประจำการที่ย้ายออกจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเพราะไม่ใช่คนท้องถิ่นได้ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลได้ด้วย
ผศ.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล หัวหน้าโครงการศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครูในถิ่นทุรกันดาร กล่าวเสริมว่า ข้อมูลปี 2562 ครูในโรงเรียนสังกัด บช.ตชด. ประมาณ 1,457 คน พบว่าไม่จบปริญญาร้อยละ 36 จบปริญญาร้อยละ 64 และกลุ่มที่จบปริญญานั้นเป็นวุฒิทางการศึกษาร้อยละ 25 และไม่ใช่วุฒิทางการศึกษาร้อยละ 75 ทั้งนี้ในส่วนของครูที่ไม่มีวุฒิทางการศึกษาพบว่าต้องการศึกษาต่อเพื่อให้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพ เพราะจะได้เรียนรู้
เทคนิคการจัดการเรียนการสอนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี