วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
ปฏิบัติการป่าล้อมเมือง ที่แม่กิ๊ แม่ฮ่องสอน

ปฏิบัติการป่าล้อมเมือง ที่แม่กิ๊ แม่ฮ่องสอน

วันพุธ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 06.00 น.
Tag :
  •  

แม้คอร์รัปชันจะเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานเป็นความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างการเมือง ราชการ และธุรกิจแต่นั่นไม่ได้ทำให้คนชายขอบรู้สึกสิ้นหวัง เพราะวันนี้ได้มีความพยายามสร้างชุมชนเข้มแข็ง ที่มีความรู้เท่าทันและพร้อมลงมือแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ด้วยการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ทั้ง 6 ข้อ อันได้แก่ นิติธรรม คุณธรรม รับผิดชอบ โปร่งใส มีส่วนร่วมและคุ้มค่า ตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมชุมชน และชาติพันธุ์ที่มีวิถีอันงดงาม พอเพียง รักสงบ ดังคำที่ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวกันว่า“ได้กินจากป่ารักษาป่า ได้กินจากน้ำรักษาน้ำ” ให้เกิดความมั่นใจ จนกล้าที่จะลุกขึ้นมาทวงถาม แสดงความต้องการ หรือไม่ต้องการโครงการต่างๆ ที่จะลงมาในชุมชนโดยภาครัฐ มีการสร้างกฎกติการ่วม มีกลุ่มคนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญเมื่อสามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ได้

ชุมชนความหวังของไทยที่กล่าวถึงไปนั่นคือ ตำบลแม่กิ๊ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านการจัดการทรัพยากร และวัฒนธรรม โดยชุมชนได้เข้าร่วมโครงการวิจัย “กระบวนการเสริมสร้างธรรมาภิบาล บนฐานวัฒนธรรมชุมชน สู่สังคมปลอดคอร์รัปชัน อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยหลักธรรมาภิบาล


ตำบลแม่กิ๊ อำเภอขุนยวม มีจำนวนประชากร 1,504 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ถั่วเหลือง ข้าวโพด และ กระเทียม และเก็บหาของป่า อาทิ เห็ดถอบและบุก ทำให้รายได้ไม่มีความแน่นอน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเวียงหลา และเขตป่าชั้นอนุรักษ์ลุ่มน้ำที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้มาก

การวิจัยในระยะแรกคือการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งพบว่า รูปแบบคอร์รัปชัน ใน ตำบลแม่กิ๊ ที่ชาวบ้านพบเจอมากที่สุดมี 5 ลำดับ ดังนี้ 1) การใช้วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตามแบบที่กำหนด 2) การมีโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่สอดคล้องกับชุมชน หรือชาวบ้านไม่ต้องการ 3) การจัดตั้งโครงการโดยไม่ผ่านประชาคมในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับทราบข้อมูล 4) การซื้อสิทธิขายเสียง และ 5) การแจ้งข้อมูลการจัดซื้อจ้างเฉพาะกลุ่มพวกตนเองเท่านั้น

ในด้านธรรมาภิบาล คนในชุมชนมองว่า หลักธรรมาภิบาลที่สำคัญที่สุด คือ หลักความรับผิดชอบ ตามการให้ความหมายของชาวบ้านนั้น การที่คนทุกคนดำรงชีวิตอยู่ในสังคม จะทำอะไรก็ตามจะต้องมีความรับผิดชอบกับผลที่ตัวเองทำ รับผิดชอบต่อหน้าที่ หลักสำคัญรองลงมา คือ หลักความโปร่งใสและหลักคุณธรรมตามลำดับ กล่าวคือ มีความซื่อสัตย์และยึดคุณธรรมในการทำงาน ถ้าหากคนทุกคนมีความรับผิดชอบ ทำงานด้วยความโปร่งใส และมีคุณธรรม การคอร์รัปชันจะไม่เกิดขึ้น

ด้านวัฒนธรรมของพื้นที่ที่เอื้อต่อการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่ 1) มีความเชื่อตามหลักคำสอนของศาสนา ผ่านพิธีกรรมทางศาสนา ผู้นำทางศาสนา ผู้นำคำสอน ผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือปราชญ์ชาวบ้าน 2) มีนิทานคำสอนของชาวปกากะญอ ประเพณีวัฒนธรรม สุภาษิตต่างๆ ที่นำมาใช้ได้ 3) ชาวบ้านมีความสามัคคี มีผู้นำที่เข้มแข็ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือด้วย 4) การมีเครือข่ายในชุมชนที่เข้มแข็งโดยเฉพาะเครือข่ายทรัพยากร 5) การมีกฎระเบียบของชุมชน มีข้อบัญญัติ ในการอยู่ร่วมกัน

สำหรับด้านวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน นั้นได้แก่ 1) การขาดข้อมูลความรู้ เช่น ไม่มีความรู้ในการเลือกตั้ง ขาดความรู้เรื่องสิทธิตัวเอง มีความคิดว่าเลือกใครก็มีผลเท่ากัน และยังการขาดความรู้เรื่องหลักธรรมาภิบาล จึงขาดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของภาครัฐ 2) การขาดความมั่นใจในภาษา 3) การมีนิสัยรักสงบ ความเกรงใจ และอุปนิสัยที่ “ไม่อยากเดือดร้อนไม่อยากมีเรื่อง นิสัยขี้กลัว ขี้อาย ขี้เกรงใจ” หรือมีค่านิยมตามกระแสพัฒนา 4) การขาดหลักคุณธรรม และการมีฐานะยากจน

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ข้อค้นพบจากผู้นำการเปลี่ยนแปลงในตำบลว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ต้องเริ่มที่ชุมชนเอง ไม่ใช่พึ่งหน่วยงานรัฐเป็นหลัก ดังส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ “...การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมันยาก ขนาดรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเขายังไม่สามารถแก้ได้เลย ฉะนั้นเราชาวบ้านต้องมีความเข้มแข็ง มีหลักธรรมาภิบาล สามารถป้องกันสิ่งไม่ดีได้ การคอร์รัปชันมันอยู่ในโครงสร้างของระบบมาตั้งนานแล้ว ถ้าจะไปแก้โครงสร้างใหญ่เราชาวบ้านเข้าถึงยาก เราต้องเริ่มจากชุมชนก่อน ช่วยกันดูแลรักชุมชนบ้านเมืองเรา ต่อต้าน ตรวจสอบสิ่งไม่ดีที่เข้ามาในชุมชน เพราะมันเป็นสิทธิและหน้าที่ของเรา...”

กล่าวได้ว่า ชุมชนตำบลแม่กิ๊นั้น มีศักยภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้วที่จะสามารถพัฒนาชุมชนตนเองไปสู่การเป็น “หมู่บ้านต้นแบบ” ในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลบนฐานวัฒนธรรมชุมชนสู่สังคมปลอดคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงและยั่งยืนในทางปฏิบัติ ชุมชนมีความเห็นว่า “นอกจากจะเป็นต้นแบบได้ ก็ต้องเป็นชุมชนที่กินได้ด้วย” จึงได้คัดเลือกเรื่อง “การผลิตและการค้าบุก” ที่เป็นปัญหาหลักที่คาใจชุมชนมากที่สุดมาเป็นกรณีศึกษาในการใช้หลักธรรมาภิบาลแก้ไขปัญหา

ทำไมต้องบุก ก็เพราะบุกนั้นปลูกง่าย ดูแลง่ายโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี เป็นพืชที่อาศัยร่มเงาของต้นไม้ การปลูกบุกเป็นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในตัว ลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอันดับต้น ๆ ของหมู่บ้าน มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกบุกบ้านเเม่กิ๊ และได้เข้าร่วมโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ มีการตั้งกฎระเบียบของกลุ่ม โดยมีคณะกรรมการ ผู้นำชุมชนร่วมกันบริหารจัดการตั้งแต่การปลูกการเก็บเกี่ยวและการจำหน่าย

ในปี 2559 ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีนโยบายส่งเสริมการปลูกบุก ทำให้การค้าขายบุกไปด้วยดี มีการกระจายรายได้เข้าสู่กลุ่ม ชุมชนเกิดรายได้ ชาวบ้านจึงหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้นแทนการปลูกข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์ แต่ปัญหาเรื่องการค้าบุกได้เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนนโยบายที่ทำให้ในปัจจุบันบุกกลับไปเป็นของป่าหวงห้าม ไม่สามารถเก็บขาย หรือปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้

พื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกบุกนั้น เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ขายบุกโดยตรงกับบริษัท ทำให้ชาวบ้านถูกกดราคาจากพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อบุก ทำให้เกิดการซื้อบุกแบบผิดกฎหมาย การเข้ามาจัดการปัญหาบุกของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส ทำให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในชุมชน

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางนโยบาย พบว่า ขณะนี้ได้มีปัจจัยเอื้อในเชิงกฎหมาย เพราะรัฐบาลกำลังจะประกาศใช้ “พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562” และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นทางออกของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ โดยได้สำรวจพื้นที่ไปแล้วเกือบทั้งหมด ที่จะทำให้ชุมชนที่ร่วมโครงการสามารถเก็บหาของป่าได้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น หากทุกฝ่ายสามารถจัดการสินค้าบุก และอาหารจากป่า ที่เป็นรายได้หลักของชุมชนได้ด้วยหลักธรรมาภิบาล เช่น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาเปิดเผยข้อมูลความรู้ให้แก่กันเพื่อหาทางออกร่วม ก็จะทำให้เกิดนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้คนแม่ฮ่องสอนหลุดพ้นจากความยากจนได้ และที่สำคัญ เมื่อคนในชุมชนได้ประโยชน์จากป่า ก็จะหันมาร่วมกันรักษาป่า ดังคำกล่าวของชาวปะกาเกอะญอที่ว่า “ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า ได้กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ” หน่วยงานภาครัฐเองก็จะได้คนดูแลป่าที่มาด้วยหัวใจอย่างแท้จริงมากยิ่งขึ้น

โดย อรุณี เวียงแสง

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ฝนถล่มอุดรฯ น้ำท่วมถนนหลายสายหนัก ชาวบ้าน 2 คนถูกไฟดูดเสียชีวิต ฝนถล่มอุดรฯ น้ำท่วมถนนหลายสายหนัก ชาวบ้าน 2 คนถูกไฟดูดเสียชีวิต
  • เปิดเวทีรับฟังเสียงชาวแม่สาย หลังเผชิญสารพิษในน้ำสูงลิ่ว นายกเล็กเสนอให้ท้องถิ่นเข้าถึงการตรวจ เปิดเวทีรับฟังเสียงชาวแม่สาย หลังเผชิญสารพิษในน้ำสูงลิ่ว นายกเล็กเสนอให้ท้องถิ่นเข้าถึงการตรวจ
  • วัดพระธรรมกายจัดบวช \'รวมนานาชาติ13ชาติ\' มุ่งศึกษาช่วงเข้าพรรษา วัดพระธรรมกายจัดบวช 'รวมนานาชาติ13ชาติ' มุ่งศึกษาช่วงเข้าพรรษา
  • สบอ.3 (บ้านโป่ง) ประชุมประเมินผล ‘พรบ.สงวนฯ’ สบอ.3 (บ้านโป่ง) ประชุมประเมินผล ‘พรบ.สงวนฯ’
  • กฟก.เชียงรายจัดประชุม \'ปฏิบัติการองค์กรเกษตรกร\' ต่อยอดโครงการงบอุดหนุน กฟก.เชียงรายจัดประชุม 'ปฏิบัติการองค์กรเกษตรกร' ต่อยอดโครงการงบอุดหนุน
  • บุรีรัมย์ขับเคลื่อน \'บ้านเมืองน่าอยู่\' เศรษฐกิจพอเพียง-ส่งเสริมฝึกอาชีพ บุรีรัมย์ขับเคลื่อน 'บ้านเมืองน่าอยู่' เศรษฐกิจพอเพียง-ส่งเสริมฝึกอาชีพ
  •  

Breaking News

ลุ้นไทยจบตรงไหน!‘กอบศักดิ์’ยกตัวอย่าง‘อินโดฯ-เวียดนาม’ดีลลด‘ภาษีทรัมป์’สำเร็จ

แนวหน้าวิเคราะห์ : ศึก'แดง-น้ำเงิน'เดือดพลั่ก ชิงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 5 รักษาเก้าอี้‘รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ’?

‘อดีตผู้พิพากษา’ยกฎีกาคดีเลือกสมาชิกวุฒิสภา ชี้ช่องถอดถอน 138 สว.

เปลี่ยนต้นไม้เป็นหลักประกัน เพิ่มโอกาสเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved