นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปี 2550 เกิดปัญหาระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมอย่างรุนแรงในพื้นที่ปลูกพริกจ.อุบลราชธานี และศรีสะเกษ มากกว่า 1,629 ไร่ ส่งผลให้พริกมีผลผลิตและคุณภาพลดลง ที่สำคัญโรครากปมแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่นได้ถ้าไม่ป้องกันกำจัดให้ถูกวิธี เนื่องจากไส้เดือนฝอยรากปมมีพืชอาศัยกว้างมาก เช่น ฝรั่ง เมล่อนมัลเบอร์รี่ มันฝรั่ง และมันสำปะหลัง
ไส้เดือนฝอยรากปมเป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า 1 ตัวสร้างกลุ่มไข่ได้ถึง 400-500 ฟอง ภายในเวลา 30 วัน จัดเป็นศัตรูพืชที่สำคัญติด 1 ใน 5 อันดับที่ทำความเสียหายให้พืชเศรษฐกิจมากกว่า 4,500 ชนิด โดยไส้เดือนฝอยรากปมจะไปแย่งกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้พืชดูดไปเลี้ยงลำต้นไม่ได้ ทำให้ลำต้นแคระแกรน ผลผลิตลดลง และต้นพืชตายในที่สุด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตรศึกษาวิจัยวิธีการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมโดยชีววิธีเพื่อลดใช้สารเคมี พบเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีผลต่อการตายของตัวอ่อนระยะที่ 2 ของไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งถือเป็นระยะสำคัญที่ก่อให้พืชเป็นโรค จึงนำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาทดสอบกับสาเหตุของโรคพืช โดยประยุกต์ใช้ในรูปแบบการผลิตเป็นก้อนเชื้อเห็ดนำไปทดสอบด้วยวิธีรองก้นหลุมก่อนปลูกพริก พบว่าก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงสามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ จากนั้นนำไปทดสอบในแปลงทดลองขนาดเล็กในสภาพโรงเรือนด้วยวิธีรองก้นหลุมก่อนปลูกพริกพบว่าการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงอัตรา 10 กรัมต่อต้น มีประสิทธิภาพในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดีที่สุด จึงขยายผลงานวิจัยไปในแปลงปลูกพริกของเกษตรกรที่มีการระบาดของโรครากปมที่อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี และอ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา กรมฯนำก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาใช้ควบคุมโรครากปม ในพริก, มะเขือเทศ, มันฝรั่ง, มันสำปะหลัง, พริกไท และพืชผัก เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรลดใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และปลอดภัยต่อผู้ใช้ผู้บริโภค
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมแจกชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงให้เกษตรกรนำไปใช้แล้ว 868 กิโลกรัม และขยายผลโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ให้กลุ่มเกษตรกรนำไปผลิตใช้เองได้แล้วที่จ.อุบลราชธานี และสมุทรสาคร โดยเกษตรกรนำไปใช้กำจัดไส้เดือนฝอยรากปมในฝรั่ง เกษตรกรที่สนใจสอบถามข้อมูลชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมีเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-9581
เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเป็นเห็ดเรืองแสงชนิดหนึ่งที่มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2544 ในเขตพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่โคกภูตากา อำเภอเวียงเก่าจังหวัดขอนแก่น และได้รับพระราชทานชื่อเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ว่า “สิรินรัศมี” มีลักษณะคล้ายเห็ดนางรมแต่จัดเป็นเห็ดพิษ ในสภาพตอนกลางวัน ก้าน ดอกและครีบมีสีขาวแต่ในสภาพกลางคืนหรือที่ไม่มีแสงดอกเห็ดจะเปล่งแสงสีเขียวอมเหลือง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี