“เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้คิดวลีนี้ แต่คำกล่าวข้างต้นก็เป็นความจริง ชีวิตวัยรุ่นโดยเฉพาะ“ช่วงที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย”นั่นคือ “รอยต่อ” ระหว่าง “ผู้เยาว์-ผู้ใหญ่”จากวัยที่พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลสู่วัยที่ต้องพึ่งพารับผิดชอบตนเอง วัยรุ่นวัยเรียนเหล่านี้เผชิญสารพัดปัญหาที่ถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะ “การแบกรับความคาดหวังจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาแห่งใดก็ต้องมีนักศึกษาที่คาดหวังผลการเรียนในระดับที่สูงมาก และความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกย่ำแย่จนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
นายอธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ใน 1 ปี นักศึกษาจะมีช่วงเวลาเครียดจัดถึง 4 ครั้ง ได้แก่ ช่วงสอบกลางภาค (มิดเทอม) 2 ครั้ง และสอบปลายภาค (ไฟนอล) อีก2 ครั้ง ซึ่งจากผลสำรวจภาวะความเครียด-ซึมเศร้าในเด็กมหาวิทยาลัย พบว่าในช่วงเหล่านี้มีเด็กที่เครียดในระดับมากถึงระดับรุนแรงเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด ในจำนวนนี้ที่น่าห่วงที่สุดคือนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพราะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่องพร้อมกัน
“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กไทยมีภาวะพึ่งพิงสูง เมื่อต้องจากบ้านออกมาจะเกิดความเครียดความกังวลบางคนเหงามาก กว่าจะมีเพื่อนที่กินข้าวด้วยได้ก็เข้าสู่ภาคเรียนที่ 2 ไปแล้ว หรือในกลุ่มเด็กที่ต้องมาอยู่ในหอพัก ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับปัญหาเงินทอง กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ระบบโซตัส (SOTUS) หรือแม้แต่ในกลุ่มเด็กเก่งเอง เป็นช้างเผือกจากต่างจังหวัด เคยเป็นที่หนึ่งของหมู่บ้าน เป็นเด็กเก่งประจำโรงเรียน-ประจำตำบล แต่พอต้องมาเจอกับหัวกะทิในกรุงเทพฯ ก็ทำให้หลายคนไปไม่เป็นเหมือนกัน” นายอธิชาติ กล่าว
จากปัญหาข้างต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ชีวิตชีวา (Viva City)” ขึ้นที่วิทยาเขตรังสิตเปิดบริการตั้งแต่ เวลา 08.30-22.00 น. ซึ่งแม้จะเป็นเพียงโครงการนำร่อง แต่ก็ให้บริการใน 2 ส่วน คือ 1.คลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งจะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ StudentAdvisor ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา-จิตแพทย์จาก รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กับ 2. Call Center ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเลขหมาย 02-0282222
แม้ว่าศูนย์ Viva City จะเพิ่งเปิดได้ไม่ถึงสองเดือนแต่จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมาพบว่ามีนักศึกษาเข้ามาใช้บริการแล้วถึง 155 ครั้ง โดยพบปัญหาความเครียดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการเรียน ความวิตกกังวล และการปรับตัว แม้จะยังเร็วไปในการชี้วัดว่าศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ อัตราการฆ่าตัวตายของนักศึกษาที่เคยมีราว 2-3 รายต่อปีปัจจุบันสถิติยังคงอยู่ที่ 0 ราย และภายในเดือนเดียวศูนย์สามารถช่วยเคสที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายไปได้ถึง 4 เคสก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี
“นักศึกษาจะมีอาการขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงใกล้สอบ แต่โรงพยาบาลซึ่งต้องบริการทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะมีคิวแน่นเป็นคอขวด อาจไม่สามารถรองรับความต้องการได้ไหว ตรงนี้ศูนย์มีจิตแพทย์ตามช่วงเวลา (Part Time) มาช่วยรองรับความต้องการของนักศึกษาที่ล้นจากโรงพยาบาลในช่วงใกล้สอบได้ หรือในกรณีที่นักศึกษาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน แต่นักศึกษาเลือกจะกลับมาอยู่หอพักศูนย์ก็จะเข้ามารับช่วงต่อ ช่วยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด”นายอธิชาติ ระบุ
ทั้งนี้หลังจากเปิดศูนย์ Viva City อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือน พ.ย. 2562 ทางมหาวิทยาลัย ก็จะเริ่มประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้น เพิ่มบุคลากร พัฒนาระบบ CallCenter ให้ใช้ได้ทั้ง 4 วิทยาเขตของธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์,รังสิต, ลำปาง, พัทยา) และในอนาคตอันใกล้ จะมีการจับมือกับบริษัท Ooca เพื่อขยายบริการให้คำปรึกษาผ่านวีดีโอคอลด้วย ถึงกระนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็เป็นอีกด้านที่สำคัญที่ต้องเข้าใจและไม่เพิ่มความกดดันให้กับบุตรหลาน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี