วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
‘ไฮสโคป’พัฒนาเด็กปฐมวัยไทย ผลลัพธ์น่าพอใจเกิดได้แม้ไร้ครูขั้นเทพ

‘ไฮสโคป’พัฒนาเด็กปฐมวัยไทย ผลลัพธ์น่าพอใจเกิดได้แม้ไร้ครูขั้นเทพ

วันจันทร์ ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
Tag : ไฮสโคป Highscope พัฒนาการเด็กปฐมวัย
  •  

ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” เคยนำเสนอเรื่องของหลักสูตร “ไฮสโคป (Highscope)” ซึ่งช่วยพัฒนาการ “เด็กปฐมวัย” โดยนำร่อง ณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มหาสารคาม แล้วพบว่าเด็กมีพัฒนาการดีขึ้นทั้งที่ไม่ใช่หลักสูตรที่ลงทุนสูง อย่างไรก็ตามการจะใช้หลักสูตรไฮสโคปให้ประสบความสำเร็จ ต้องเกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งจากครูพี่เลี้ยงและผู้ปกครองของเด็กๆด้วย (ตามดูหลักสูตร “ไฮสโคป” สร้างปฐมวัยให้ “ดี-สุข-เก่ง” : สกู๊ปหน้า 5 นสพ.แนวหน้าฉบับวันที่ 24 ก.พ. 2559)

4 ปีผ่านไป ในเดือนก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ที่งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ครั้งที่ 42 เรื่อง “ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ : เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต” ณ ห้องประชุม ชั้น 5ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้ตั้งต้นผลักดันให้หลักสูตรไฮสโคปเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในประเทศไทย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทองคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาบรรยายในหัวข้อ “การศึกษาปฐมวัย” ได้นำเรื่องดังกล่าวมาถ่ายทอดอีกครั้ง


“เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากนักธุรกิจผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง” อาจารย์วีระชาติเริ่มต้นเล่าจากเหตุการณ์เมื่อปี 2557 เมื่อมีผู้บริจาคเงินก้อนใหญ่ให้กับ ม.หอการค้าไทย พร้อมกับบอกว่า “ช่วยเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไรเพื่อพัฒนาชนบทให้มันยั่งยืนที”และนั่นกลายเป็นที่มาของการกระโจนเข้าไปทำงานด้านการศึกษาทั้งที่ยังไม่เข้าใจเพราะจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ “ไรซ์ ไทยแลนด์ (RIECE Thailand)” คือชื่อโครงการที่ตั้งขึ้น และลงไปทำงานร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานสำคัญที่เชื่อมทีมวิจัยกับชุมชนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

คำถามต่อมา “ทำไมต้องเป็นไฮสโคป?” คำตอบคือเพราะเป็นหลักสูตรที่มีผลวิเคราะห์ว่า “อัตราส่วนประสบความสำเร็จต่อต้นทุนอยู่ที่ 7 ต่อ 1” ขณะที่หลักสูตรอื่นๆ ลงทุน 1 ส่วนอาจสำเร็จเพียง 2 ส่วนบ้าง 3 ส่วนบ้าง 4 ส่วนบ้าง “แต่การตีความงานวิจัยทุกฉบับเท่าที่รวบรวมได้ก็ยังไม่ยากเท่าการนำงานวิจัยไปใช้ในภาคสนามจริงๆ” โดยเริ่มต้นในปี 2558 ที่ 2 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือข้างต้น

“เราทำสเกล (Scale-ขนาด)ที่คิดว่าใหญ่พอสมควร 50 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพร้อมกัน ซึ่งผมว่าเป็นความโชคดีที่เราตัดสินใจทำอย่างนั้น เราไม่เลือก1 หรือ 2 ที่ขึ้นมาทำ เพราะผมเชื่อว่านั่นคือกับดักที่อันตรายมากในการทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการพัฒนาชนบท เราจะติดกับดักการทุ่มเททรัพยากร เราจะมีเงินทุกบาทแล้วจะทำให้ที่นี่ประสบความสำเร็จโดยที่เราไม่ตระหนักว่าโลกความจริงคือสเกลที่ใหญ่มาก

เราจะไม่เข้าใจความยุ่งยากของภาครัฐเลยว่ารัฐจะต้องดีล (Deal-ข้องแวะ)กับจำนวนมาก การที่ผมดีลกับ 50 มันช่วยเตือนผมตลอดเวลา เวลาผมอยากทำอะไรสักอย่าง พอผมอยากทำเห็นต้นทุนต่อศูนย์มันไม่เยอะ แต่พอผมคูณเลข 50 เข้าไปผมจะรู้ทันทีว่าผมไม่มีสตางค์ นี่คืออิมพลีเมนเทชั่น (Implementation-การดำเนินงาน) ผมเรียกมันว่าพอลิซี (Policy-นโยบาย)” อาจารย์วีระชาติ กล่าว

คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย เล่าต่อไปว่า โครงการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการ “Perry Preschool Project” ในสหรัฐอเมริกา เมื่อราว 50 ปีก่อน โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันเดวิด ไวการ์ท (David Weikart) โครงการนี้ทดลองระหว่างปี 2505-2508 จุดประสงค์คือ “เพื่อแก้ปัญหาความยากจน” โดยทำใน 2 เรื่องคือ 1.นำหลักสูตรไฮสโคปไปใช้ในโรงเรียน กับ 2.เยี่ยมบ้านเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตรหลานของผู้ปกครอง

“สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการให้ความรู้เพราะคนรู้กับคนทำไม่เหมือนกัน” โดยเด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็กต้องการ “การกระตุ้น (Stimulation)” ผู้ปกครองจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของบุตรหลาน โครงการ 3 ปี ได้กลุ่มตัวอย่าง 123 คน กระทั่งในปี 2553 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล เจมส์ เฮ็คแมน (James Heckman) เริ่มรวบรวมข้อมูลการติดตามชีวิตของเด็กกลุ่มนี้มาวิเคราะห์อย่างละเอียด จนได้ข้อสรุปว่าไฮสโคปเป็นหลักสูตรที่ได้ผลสำเร็จถึง 7 ส่วนต่อการลงทุน 1 ส่วนดังกล่าว

อาจารย์วีระชาติ ระบุว่า ทีมงานได้รับ “บทเรียน” มากมายเมื่อลงพื้นที่จริง1.ถ้าไม่เจอผู้นำท้องถิ่นอย่าหวังว่าโครงการจะเกิดขึ้น และผู้นำในที่นี่ก็ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ต้องเป็นผู้บริหาร อปท. เท่านั้น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เป็นต้น 2.ทุกหน่วยงานมีโครงการพัฒนา แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการแบบไฟไหม้ฟาง ผลกระทบจึงไปตกที่ครูในฐานะผู้ดูแลเด็กๆ โดยตรง เพราะไม่รู้ว่าควรจะทำตามนโยบายหรือแผนของหน่วยงานใด

“เราขอบอกเลยว่า ถ้าคุณจะร่วมมือกับใครหลังจากร่วมมือกับเรา ขออนุญาตบอกเราก่อน สิ่งที่เราพบคือเราไม่ได้กีดกัน แต่ครูกับเด็กซัฟเฟอร์ (Suffer-เป็นทุกข์) มาก ทุกคนอยากจะให้เขาทำอย่างที่ฉันอยากให้ทำ แล้วมันก็ไม่เข้ากัน มันไม่ใช่จิ๊กซอว์ที่ต่อเข้ากันได้ด้วย มันคนละเรื่องคนละราว พยาบาลมาก็อย่างหนึ่ง สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ก็อย่างหนึ่ง กรมมาก็อย่างหนึ่ง มันกลายเป็นสุดท้ายครูก็ตัดสินใจไม่ทำเลยเสียดีกว่าปล่อยเด็กอยู่เฉยๆ ดีกว่า” อาจารย์วีระชาติระบุ

บทเรียนต่อมา 3.ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นไม่เชื่อว่าการพัฒนาจะทำจริงจัง มีผู้บริหาร อปท. บางท่าน “สบประมาท (Underestimated)” ทีมงานผู้วิจัยว่า “เดี๋ยวทำสักพักก็ไป” หรือชาวบ้านบางรายได้ยินคำว่าวิจัยก็ชักสีหน้าเบื่อๆ ใส่ทันที แต่จนกระทั่งวันนี้ผ่านไป 5 ปี ทีมงานก็ยังอยู่ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ 4.ไม่ใช่ว่าทำพร้อมกันแล้วจะต้องประสบความสำเร็จพร้อมกัน ใน 50 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ทีมงานนำหลักสูตรไฮสโคปไปใช้ ก็มีทั้งศูนย์ที่ได้ผลดีอย่างชัดเจน และศูนย์ที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

5.การพัฒนาครูก็ส่วนหนึ่ง แต่สำคัญกว่าคือการสร้างแรงจูงใจ ประเด็นนี้อาจารย์วีระชาติ ตั้งข้อสังเกตจากการมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการด้วยว่า “โรงเรียนเอกชนสร้างแรงจูงใจให้ครูพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนได้ดีกว่าโรงเรียนของรัฐ” เพราะการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผลลัพธ์แบบเก่งขึ้นหรือดีขึ้นจะเกิดไม่ได้เลยหากคนคนนั้นไม่ยอมลุกขึ้นมาทำงานให้หนักขึ้นหรือเต็มที่มากขึ้น

“เราเก็บข้อมูลเป็นรายปี ข้อมูลเราก็เยอะพอสมควร มีตัวแปรประมาณสักพันกว่าตัวแปร หลักๆ ช่วงแรกๆ ที่เราเน้นถามคือ อินพุท (Input-การป้อน) ที่เด็กได้รับ ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟังแค่ไหน ผู้ปกครองให้ทานอะไร ผู้ปกครองเดินตามป้อนข้าวหรือเปล่า ผมกำลังดูอยู่ว่ามีผลกับพัฒนาการเด็กไหม เป็นเรื่องออพเวียส (Obvious-มองเห็นได้ง่าย)ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้ง แต่มันลึกซึ้งในแง่ที่ว่าเราแค่อยากเข้าใจว่าจริงๆ คนเป็นพ่อเป็นแม่จะรู้ว่าชีวิตมันทรมานมาก ก็อยากรู้ว่าทำอะไรมันถูกมันผิด” คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย เล่าถึงการเก็บข้อมูล

จากวันแรกเริ่มถึงปัจจุบัน ทีมงานมีข้อมูลของเด็กๆ กลุ่มตัวอย่างราว 1,400 คนแบ่งเป็นที่เกี่ยวกับตัวเด็ก ครัวเรือนและสถานศึกษา และมีการทดสอบพัฒนาการเป็นระยะๆ เช่น ล่าสุดทดสอบเรื่อง “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน (Delay of Gratification)”ที่อ้างอิงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสหรัฐฯ เรื่อง “การทดลองมาร์ชเมลโล่ (Marshmallow Test)” ซึ่งมีข้อค้นพบว่า “คนที่อดทนรอได้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า” โดยเด็กที่ได้เรียนหลักสูตรไฮสโคปค่อนข้างจะรอได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบด้าน“ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction)”โดยเด็กที่ได้เรียนหลักสูตรไฮสโคป พบว่าเด็กจะเล่นเป็นกลุ่ม และการเลือกเข้ากลุ่มเด็กแต่ละคนจะเลือกตัดสินใจเอง เรื่องนี้อาจสอดคล้องกับบทสรุปของโครงการ Perry Preschool Project ที่ว่าเมื่อเด็กกลุ่มทดลองเติบโตเป็นผู้ใหญ่พบปัญหาติดยาเสพติดหรือก่ออาชญากรรมน้อยมาก ที่ตีความได้ว่า “เมื่อคนคนหนึ่งตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมจึงมีความสำคัญกับฉัน” ไฮสโคปยังช่วยพัฒนาการด้านการสื่อสาร ที่เด็กๆ กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น

อาจารย์วีระชาติ เปิดเผยว่า ข้อมูลชุดแรกจากโครงการที่ทำมาแล้ว 5 ปีนี้คาดว่าจะมีการเผยแพร่ราวเดือนส.ค. 2563 เพื่อให้นักวิจัยคนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนชุดอื่นๆ จะตามมาในลำดับถัดไป แต่ก็ย้ำด้วยว่า “การพัฒนาการศึกษาอาจไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะแต่ยอดฝีมือขั้นเทพเสมอไป” เห็นได้จากข้อค้นพบในพื้นที่นำร่องทั้ง 2 จังหวัด ที่ครูพี่เลี้ยงซึ่งเข้าร่วมโครงการโดยพื้นเพก็ไม่ใช่คนเก่งกาจอะไรนักแต่ยังสามารถทำงานจนเด็กๆ ที่มีพื้นเพมาจากครอบครัวฐานะไม่ค่อยดีเท่าไรเช่นกัน ให้มีพัฒนาการดีขึ้นได้

“เราไม่จำเป็นต้องเอาครูที่เก่งที่สุดทำในสิ่งที่มันเอฟเฟคทีฟ (Effective-มีประสิทธิภาพ) ก็ได้ ครูที่ ศพด. (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) ผมไม่ได้ดูถูกเขานะ ผมชื่นชมเขามากที่เขาทำได้ ครูพวกนี้คือครูที่สอบบรรจุไม่ติด คือครูที่ชีวิตนี้อยากจะสอบบรรจุมากแต่สอบไม่ได้ ผมก็หวังว่าวงการการศึกษาจะไม่หลงทางที่จะไปคุยกันว่าจะเอาคนเก่งไปเป็นครู นักการศึกษาจะต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ครูมีแรงจูงใจทำในสิ่งที่ควรจะต้องทำ และมีเครื่องมือไปช่วยเขาทำในสิ่งเหล่านั้นได้” อาจารย์วีระชาติ กล่าวในท้ายที่สุด

ในเดือน ก.ย. 2558 วีระชาติ กิเลนทอง ซึ่งขณะนั้นยังมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) และยังเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้อธิบายถึงหลักสูตรไฮสโคป (Highscope) ในเวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย “ระบบการพัฒนาสุขภาพเด็กปฐมวัย” ไว้ว่า เป็นกระบวนการที่เน้นให้เด็กปฐมวัยทำอยู่ 3 อย่างทุกวันคือ “วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน” เช่น วางแผนไปเล่น เล่นแล้วก็เก็บของ เก็บของแล้วก็มาทบทวนให้เพื่อนฟังว่าตนเองไปทำอะไร เป็นต้น

“เด็กวาดรูปเตียงเพื่อนก็จะถามว่าเตียงของใคร มีใครนอนบ้าง เป็นคำถามเด็กๆ ครับ แต่เราเชื่อว่านี่เป็นการสร้างทักษะการสื่อสารและการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคม และเด็กจะได้ทำแบบนี้เป็นกิจวัตรประจำวัน แล้วเด็กเขาก็จะเข้าใจ ความฝันของผมคือต่อให้เขาไปเป็นชาวนา เขาก็จะเป็นชาวนาที่รู้จักวางแผน ให้เขาไปเป็นอะไรเขาก็จะรู้จักวางแผน รู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ มีความมั่นใจ” อาจารย์วีระชาติ กล่าว (‘วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน’ 3 คำสร้างคุณภาพเด็กปฐมวัย : สกู๊ปหน้า 5 นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 25 ต.ค. 2558)

ส่วนโครงการ “Perry Preschool Project” นั้นเริ่มใช้หลักสูตรไฮสโคปสอนเด็กวัย 3-4 ปี ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมือง Ypsilanti รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2505 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มาจากครอบครัวระดับล่าง กระทั่งอีก 50 ปีให้หลังเจมส์ เฮ็คแมน (James Heckman)นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล รวบรวมข้อมูลของเด็กกลุ่มดังกล่าวที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มาวิเคราะห์ พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีความสุขในชีวิต ประสบความสำเร็จตามอัตภาพและไม่ก่อปัญหาให้สังคม จนกลายเป็นบทสรุปที่ว่า “ไม่มีการลงทุนใดที่คุ้มค่าไปกว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยอีกแล้ว”!!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

(คลิป) จี้ใจ! คนปทุม 'หญ้าหวานบุรี' เย้ย! ไอ้เจ.. ใต้เข็มขัด ใต้กติกา 'กูไม่กลัวมึง'

ขึ้นแท่นแล้ว! 'นิกส์-วูล์ฟส์'ยังแรงจ่อชิงเพลย์ออฟNBA

‘อิ๊งค์’รับเสียโอกาส‘ทักษิณ’ชวดบินกาตาร์เจอ‘ทรัมป์’ซี้เก่า เผยไทยส่งข้อเสนอไปแล้ว

กทม.ทำบุญใหญ่! สวดบำเพ็ญส่วนกุศล แด่ผู้สูญหาย‘ตึก สตง.ถล่ม’ (ประมวลภาพ)

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved