8 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่นำไข่ของเต่าทะเลที่ขึ้นวางไข่ เป็นรังที่ 13 ของปี 2563 ซึ่งเป็นรังที่ 2 ที่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่นอกฤดูกาล บริเวณทิศใต้ของเขาหน้ายักษ์ ล่าสุดทาง นายประถม รัสมี ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต นายหฤษฎ์ชัย ฤทธิช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง นายจักรพันธ์ ม่วงยิ้ม ผอ.ส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สทช.6 นายสุริยะ สอนเสริม ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่10 (ตะกั่วป่า พังงา)
ได้ขุดนำไข่ของเต่าทะเลที่บริเวณพิกัด E0413616 N0942550 พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากเขาหน้ายักษ์ หมู่ 5 ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ทางทิศใต้ประมาณ 2 กม. และห่างจากหลุมไข่เดิมที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 1 ก.ค.63 ประมาณ 1.5 กม. เข้าเก็บไว้ในกล่องโฟม บรรจุทราย จำลองสภาพหลุมไข่เต่ามะเฟืองทั้งความลึก อุณหภูมิ และความชื้น
จากสถิติของทางนักวิชาการที่บันทึกไว้ ในการฟักไข่เต่ามะเฟืองก่อนหน้านี้ โดยใช้ไฟส่องสว่างควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิดังกล่าวจะใช้ระยะเวลา 20 วัน จากนั้นจะลดอุณหภูมิลงเหลือ 29 – 30 องศาเซลเซียส เนื่องจากต้องการเพศของไข่เต่ามะเฟืองให้มีเพศสมดุลกันระหว่างเพศผู้และเพศเมีย ให้ได้ที่ร้อยละ 50 กระทั่งครบระยะการฟักตัวที่ระยะเวลา 40-45 วัน ซึ่งจะครบการรอลุ้นการแตกตัวของลูกเต่ามะเฟืองพร้อมปล่อยลงสู่ทะเลต่อไป
ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะพบเต่ามะเฟืองวางไข่ช่วง พ.ย.-เม.ย. คาดว่าเป็นแม่เต่ามะเฟืองที่ตามมาทีหลังและเลือกวางไข่สถานที่สงบ ซึ่งในช่วงนอกฤดูกาลจะมีปัญหาเรื่องมรสุมและคลื่นลมแรง ทำให้ไม่เหมาะสมกับการวางไข่เนื่องจากโอกาสที่น้ำทะเลท่วมไข่เต่ามีมาก ทางเจ้าหน้าที่จึงต้องทำการนำเข้าเพาะฟักในสถานที่ปลอดภัยกว่า เห็นได้ว่าปริมาณของแม่เต่ามะเฟืองเพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้การขึ้นวางไข่มีมากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเนื่องจากเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ทะเลหายากจนเกือบจะสูนพันธุ์ ส่วนการเพาะฟักในกล่องโฟมครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่มีประสบการณ์ได้เพาะฟักในกล่องโฟมมาก่อนหน้านี้ ประกอบกับหลักวิชาการในการควบคุมดูแลการเพาะฟักจึงไม่กังวลมากนัก