หากจะกล่าวถึงคุณูปการของ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ต่อแวดวงดนตรีไทย ก็ต้องบอกว่ามากมายนัก ปรมาจารย์ดนตรีไทยท่านนี้ซึ่งเกิดในปี 2424 และเสียชีวิตในปี 2497 รวมอายุได้ 73 ปีได้รับการยกย่องว่าเชี่ยวชาญเครื่องดนตรีไทยทุกชนิดและยังมีผลงานประพันธ์เพลงไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ หลวงประดิษฐไพเราะยังได้ฝึกสอนลูกศิษย์ที่ต่อมากลายเป็นครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ ประสิทธิ์ ถาวร เผือด นักระนาด อุทิศ นาคสวัสดิ์บุญยงค์ เกตุคง สมภพ ขำประเสริฐ อุทัยแก้วละเอียด โชติ ดุริยประณีต และอีกหลายท่าน
ในปัจจุบันเหลือครูดนตรีไทยที่ได้เรียนกับหลวงประดิษฐไพเราะโดยตรงเพียง 4 ท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ พ.ท.เสนาะ หลวงสุนทร (ศิลปินแห่งชาติ) ประยูร น่วมศิริ สวง ศรีผ่อง และ ฉลาก โพธิ์สามต้น ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สมมาตรวิสุทธิวงษ์ ทายาทของหนึ่งในลูกศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ ประคอง วิสุทธิวงษ์โต้โผวงปี่พาทย์มอญคณะประคองศิลป์ จ.สุพรรณบุรี ได้นำเรื่องราวที่ตนเองได้มีโอกาสเข้าไปกราบคารวะและขอสัมภาษณ์ พ.ท.เสนาะ หลวงสุนทร ในวัย 80 ปีเศษณ บ้านพักย่านรามคำแหง มาเล่าความหลังอันผูกพันถึงในยุคที่ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์เป็นจำนวนมาก
“ประมาณปี 2492 ตอนนั้นอายุ 16 หลังจากได้ร่ำเรียนวิชาดนตรีจากที่บ้านสมุทรสาครจนหมด จึงมุ่งหน้าสู่บ้านบาตรเพื่อมาเรียนดนตรีอย่างจริงจังกับท่านครู ท่านเมตตาให้ที่พักฟรี เรียนฟรี ไม่ว่าจะยากดีมีจน เก่งไม่เก่งท่านรับเป็นศิษย์หมด มีทั้งอยู่พักค้างประจำและไป-กลับ ลูกศิษย์ที่เรียนในช่วงนั้นก็มีปน ว่านม่วง ถุงเงิน ทองโต เรืองเดช (ฉง้อน) พุ่มไสว ประมวล อรรถชีพ สุบิน จันทร์แก้ว จากสุพรรณก็จะมี สุวิทย์ บุญลือ ประคอง วิสุทธิวงษ์ แต่ละคนมาอยู่กินนอนกันเป็นปีๆ โดยเฉพาะลุงคุ่ยพ่อของประคองมาจากสุพรรณคอยแวะมาเยี่ยมเยียนบ้านครูอยู่บ่อยๆ
จนถึงช่วงท้ายอายุท่านครูที่สุขภาพเริ่มไม่แข็งแรง ทางครูสมภพ ขำประเสริฐ จึงคิดริเริ่มมาตั้งวงศิษย์คุณครูหลวงประดิษฐไพเราะขึ้น ครูเสนาะตีระนาดครูสมภพทุ้ม โดยปกติครูภพเป็นคนฆ้องที่ตีไหวมาก สลับให้ครูช่อมาตีฆ้อง ครูฉลากนกเล็กรวมตัวกันได้จะไปนัดพบกันซ้อมเพลงกันที่บ้านคหบดีใหญ่ท่านหนึ่งที่ชอบดนตรีไทยมีบ้านอยู่แถวย่านเจริญนคร เวลาไปซ้อมไปงานจะมีเรือนต้อนรับอย่างดี ค่าตัวก็ดียุคนั้นถือว่าหรูมากแล้ว” สมมาตร ถ่ายทอดเรื่องราวจากเรื่องเล่าในความทรงจำของครูเสนาะ
สมมาตร เล่าต่อไปว่า ครูเสนาะใกล้ชิดกับท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะมาก ต้องคอยไปนวดให้เกือบทุกคืน และอยู่ดูแลที่บ้านท่านจนวันที่ท่านสิ้นไปต่อหน้าในปี 2497จากนั้นครูเสนาะจึงมาเรียนระนาดกับครูเผือดนักระนาด จนแตกฉานในทางดนตรีไทย ไม่เพียงเท่านั้น ครูเสนาะยังเพิ่มพูนความรู้ของท่านด้วยการไปเรียนวิชาดนตรีสากล โดยเลือกเรียนเครื่องเป่าโอโบ (Oboe) จนเชี่ยวชาญในการอ่าน-เขียนและเรียบเรียงโน้ตเพลงแบบสากล ทำให้ท่านได้บรรจุเข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก
“สมัยนั้นครูบุญยงค์ เกตุคง นับว่าเป็นนักระนาดที่ตีได้พลิ้วไหวหาตัวจับยาก ขยันไล่ระนาดและฝึกซ้อมเพลง ส่วนตัวครูช่วงนั้นไปมุ่งแต่ทางสากล ระนาดถ้าเปรียบกับครูบุญยังแล้วตนเองเละเทะเลย”ครูเสนาะ เล่าเรื่องนี้ปนกับเสียงหัวเราะ
พ.ท.เสนาะ เล่าต่อไปถึง “วัฒนธรรมปักหางนกยูงประดับเครื่องมอญ” ว่า ยุคนั้นช่วงปี 2500 ในกรุงเทพฯ ไม่มีคิดใครทำ กระทั่งมีการริเริ่มนำหางนกยูงมาปักที่ฆ้องมอญ โดย“วงรวมบรรเลง” ของนักร้องกรมประชาสัมพันธ์ณรงค์ รวมบรรเลง อยู่ อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการสมัยนั้นวงนี้มีเครื่องดนตรีอังกะลุงซึ่งก็มีหางนกยูงประดับอยู่แล้ว ต่อมาคงเอามาปักในเครื่องมอญ จากนั้นก็มีวงครูพริ้มนักปี่ อยู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มาทำต่อ และวงประคองศิลป์ นำไปทำที่ จ.สุพรรณบุรี
สำหรับผลงานสำคัญของ พ.ท.เสนาะ หลวงสุนทร คือการประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ประมาณ 40 เพลง และการนำบทเพลงที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูดนตรีไทยหลายท่าน ประมาณ 500 เพลง มา
เรียบเรียงให้เป็นโน้ตสากลเพื่อมอบให้เป็นสมบัติของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เพื่อแสดงความเคารพแด่ครูดนตรีไทยท่านต่างๆ และเพื่อให้เป็นมรดกสืบทอดถึงชนรุ่นหลังต่อไป
ทำให้ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เมื่อปี 2555 โดยหนึ่งในผลงานดนตรีที่ครูเสนาะ ประทับใจและเล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งประพันธ์ขึ้นมาคือ “การคิดค้นทางเดี่ยวระนาดเอกเพลง “อาเฮียเถา” ให้กับ สมนึกศรประพันธ์” ซึ่ง สมนึก เป็นนักระนาดฝีมือชั้นครูคนสำคัญ ที่เคยมารับราชการในกองดุริยางค์ทหารบกช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะไปมีครอบครัวและเป็นมือระนาดประจำวงปี่พาทย์ประคองศิลป์ สุพรรณบุรีอยู่เป็นสิบปี และเคยขึ้นบรรเลง ณ โรงละครแห่งชาติด้วย
“เดี่ยวแรกเลยก็เป็นเดี่ยวพญาโศก ให้ไปประชันที่วัดพระพิเรนทร์ จากนั้นก็ไปประชันกับนายเขียวเพลงแขกมอญ แต่ตอนนั้นไม่ได้แต่งให้แต่สมนึกขอให้ไปดู จนมาประชันกันอีกครั้งจึงแต่งเพลงอาเฮีย แต่งใหม่ให้ทั้งเถาเลย ตอนต่อเพลงจนสมนึกไข้ขึ้น ยังบอกว่าอยู่แบบทหารต้องซ้อมแบบทหาร ถ้าทำไม่ได้ไม่ต้องไป แต่ตอนท้ายทางนั้นเขาไม่เล่น สมนึกจึงตีโชว์ จนมีชื่อเสียงจากเพลงนี้ไปเลย” ครูเสนาะ เล่าอย่างภาคภูมิใจ
สมมาตร ยังได้สนทนากับ พ.ท.เสนาะ ในประเด็น “ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจะทำให้ดนตรีไทยเลือนหายไปจากสังคมไทยหรือไม่?” ซึ่ง ครูเสนาะ ให้ความเห็นในฐานะนักดนตรีผู้ผ่านทั้งยุครุ่งเรืองของดนตรีไทยและยุคที่ดนตรีสากลแพร่หลายเข้ามา ว่า “บางครั้งเราคงต้องหันกลับไปมอง และปลูกฝังให้นักดนตรีไทยเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในการดูแลและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเรา” ให้มากกว่าการมองไปที่ตนเองเป็นเป้าหมาย
“สิ่งนี้มันทำให้ดนตรีไทยไม่พัฒนาไปไหน ซึ่งลักษณะแบบนี้จะเป็นคนรุ่นหลัง มันจะไม่มีในช่วงที่ท่านครูยังอยู่ คือสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีหลักการอยู่ ในการเรียนเราต้องรู้และยึดถือหลักเอารูปแบบประเพณีของไทยดั้งเดิมไว้ให้ได้ แต่บางอย่างที่ต้องใช้เลี้ยงชีพก็สามารถปรับเปลี่ยนกันได้เพียงแต่เรายึดหลักเดิมไว้ไม่ให้หายไปก็พอ”พ.ท.เสนาะ กล่าวในท้ายที่สุด
หลังกราบคารวะและสนทนากับ พ.ท.เสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปี 2555 เพื่อนำบทสัมภาษณ์หนึ่งในลูกศิษย์ของปรมาจารย์ดนตรีไทย หลวงประดิษฐไพเราะ (ศรศิลปบรรเลง) มานำเสนอต่อสังคมไทยผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน สมมาตร วิสุทธิวงษ์ทายาทของหนึ่งในลูกศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ ประคอง วิสุทธิวงษ์ โต้โผวงปี่พาทย์มอญคณะประคองศิลป์ จ.สุพรรณบุรียังได้ฝากข้อคิดไว้ในฐานะที่ตนเองก็เป็นนักดนตรีร่วมสมัยทั้งไทยและสากลคนหนึ่งเช่นกันด้วยว่า..
ดนตรีไทยเป็นรากเหง้าที่ต้องดำรงไว้แต่ให้มีการผสมผสานระหว่างกัน ให้ดนตรีไทยเป็นหลักใหญ่ ดนตรีสากลเป็นส่วนผสมมีเส้นเสียงที่หลากหลายมากขึ้น สามารถปรับปรุงสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ทันเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันนี้ แต่ว่าของเดิมก็ต้องยังอยู่ ยังคงอนุรักษ์สืบทอดกันต่อไป!!!
หมายเหตุ : เนื่องในโอกาสครบ 140 ปีหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)ที่จะมาถึงในเดือน ส.ค. 2564 ทางมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงได้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลผลงานเพลง ประวัติ รูปภาพ แถบบันทึกเสียง โน้ตเพลงทั้งหมดของครูหลวงประดิษฐไพเราะจัดทำลงในเว็บไซต์เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลให้กับอนุชนคนรุ่นหลังสืบต่อไป
ส่วนโครงการสร้างสุพรรณบุรีเป็นเมืองเครือข่ายด้านดนตรีขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่มี นายสมมาตร วิสุทธิวงษ์ เป็นที่ปรึกษาพิเศษขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 (อพท.7) ยังคงมีความคืบหน้าไปมาก โดยได้ร่วมประชุมวางกรอบแนวทางการทำงานกับรองผู้ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ชูชีพ พงษ์ไชย และส่วนงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี