15 ธ.ค. 2563 ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในพื้นที่ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ณ ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 40 ว่า แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ส่งเสริมให้วัยรุ่นหญิงยังได้เรียนต่อแม้จะตั้งครรภ์ก็ตาม
แต่ในความเป็นจริงพบมีหลายกรณีที่เด็กกลุ่มนี้ต้องออกจากการศึกษาในระบบไปสู่การเรียนในช่องทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เนื่องจากยังมีผู้บริหารหรือครูของบางโรงเรียนมองว่าการมีเด็กตั้งครรภ์ในโรงเรียนทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ ซึ่งตนเป็นห่วงในเรื่องนี้มากเพราะการที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาคือการตัดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตัวเด็กเอง และย้อนกลับมาเป็นผลกระทบต่อสังคม
“การตั้งครรภ์มันเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงคนหนึ่ง ปกติคนในชุมชนในสังคมก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นเขาก็ควรได้รับสิทธิ์กลับมาเรียนในโรงเรียนเดิม คือในระบบการศึกษาสามัญ ไม่ใช่ออกโรงเรียนแล้วก็ไปเรียน กศน. ซึ่งเรารู้ว่าเวลาที่เรียน กศน. เมื่อจบไปทำงาน ความรู้พื้นฐานมันจะไม่เท่ากับระบบปกติ มีการศึกษาของ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) พบว่าถ้าเด็กที่ตั้งครรภ์แล้วออกจากโรงเรียน จะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ คือเขาไม่สามารถที่จะมีอาชีพไปทำงาน หรือว่ารายได้ในอนาคตเขาจะสูญหายไป 2-2.5 แสนล้านบาท” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ
ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวต่อไปว่า หากผู้หญิงขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ไม่เพียงตนเองไม่เข้มแข็งแต่ยังส่งผลไปถึงลูกของผู้หญิงคนนั้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีผลการศึกษาพบว่า แม่ที่มีระดับการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะสามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตมาอย่างมีสุขภาพดี เช่น มีน้ำหนัก-ส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันลูกจากโรคภัยไข้เจ็บ ตรวจสุขภาพและรับวัคซีนได้ครบถ้วน ตลอดจนการสนับสนุนให้ลูกได้เรียนสูงๆ ได้มากกว่าแม่ที่มีระดับการศึกษาน้อย
ที่สำคัญคือหากมองในระยะยาว พ่อแม่ของแม่วัยรุ่นในวันนี้ย่อมต้องกลายเป็นผู้สูงอายุวัยเกษียณในอนาคต หากคนรุ่นหลังมีปัญหาเรื่องคุณภาพแล้วใครจะดูแลผู้สูงอายุที่แก่เฒ่าชราลง ดังนั้นตนย้ำถึงความสำคัญของการไม่ตัดโอกาสแม่วัยรุ่นออกจากการศึกษาในระบบ ซึ่งสามารถจัดการศึกษาได้ เช่น ตอนที่อายุครรภ์ยังไม่มาก ท้องยังไม่โตอย่างชัดเจนก็เรียนในโรงเรียนไปตามปกติ เมื่ออายุครรภ์มากท้องโตแล้วก็อาจจะเรียนออนไลน์ที่บ้าน โดยเมื่อมีการสอบครูก็ไปจัดสอบและคุมสอบให้ที่บ้าน และเมื่อคลอดแล้วก็กลับมาเรียนที่โรงเรียนตามเดิม เป็นต้น
“เขาอาจจะจบได้ทันเพื่อน หรืออาจจะเหลื่อมไปประมาณ 1 ปีก็ไม่เป็นไร แต่บางคนถูกเปิดเผยข้อมูลทำให้เขาถูกตีตรา ทำให้เขาไปเรียนที่โรงเรียนเดิมไม่ได้ ครูก็อาจจะพาเขาไปเรียนในโรงเรียนใกล้เคียงกัน แล้วเขาก็จบปกติได้ ฉะนั้นอยากจะให้เรียนในระบบปกติไม่ใช่ระบบ กศน. ก็ต้องเปลี่ยนที่ทัศนคติของครู อย่ามองว่าเด็กพวกนี้เป็นสีดำ ทำให้โรงเรียนไม่เป็นโรงเรียนสีขาว อยากจะให้มองว่าเราช่วยอนาคตของชาติ ช่วยกันสร้างชาติ” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวในท้ายที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี