เด็กเก่งจากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้คว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่นด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสภาวะโลกร้อน ภายใต้การสนับสนุนของ กองทุนสุขภาพกับสภาวะโลกร้อน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยผลงานที่ได้รับรางวัลคือ “วัสดุห่อผลไม้เลียนแบบการสร้างปลอกหุ้มตัวหนอนของผีเสื้อหนอนปลอก” พร้อมรับทุนการศึกษา 50,000 บาท
น้องบลู-นางสาวผกาพรรณ ไชยวงษ์ อายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 อาสาเล่าที่มาของผลงานให้ฟังว่า
“จุดเริ่มต้นของโครงงานวิจัยนี้เกิดจากการสังเกตและรับรู้ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจของชุมชนอาศัยอยู่รอบๆ บริเวณโรงเรียน และในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งขายในรูปแบบผลสด แต่ประสบปัญหาแมลงวันทองเข้าไปวางไข่ ทำให้เกิดหนอนชอนไชผลผลิตเสียหาย เกษตรกรจึงป้องกันโดยการใช้ถุงกระดาษซึ่งมีราคาสูง และขณะใช้งานอาจจะมัดปากกับขั้วผลมะม่วงไม่สนิท ทำให้มดแดงเข้าไปในถุงเป็นพาหะในการนำเพลี้ยแป้งซึ่งจะดูดน้ำเลี้ยงจากผลเข้าไปด้วย ทำให้ผลมะม่วงเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ถุงกระดาษที่นำมาใช้ยังมีรูปทรงขนาดใหญ่ ต้านลม และแกว่งไป-มาทำให้ผลมะม่วงเสียดสีกับถุงกระดาษก่อให้เกิดบาดแผลและโรคแทรกซ้อนได้ จากปัญหาเหล่านี้จึงเกิดเป็นแนวคิดในการสร้าง ปลอกเทียมห่อผลมะม่วง โดยเลียนแบบการสร้างปลอกของผีเสื้อหนอนปลอก ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันแมลงศัตรูพืชค่ะ”
น้องเต้-นายทวีทรัพย์ สร้อยสน อายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 เล่าถึงขั้นตอนการผลิตว่า “วัสดุห่อผลไม้เลียนแบบการสร้างปลอกหุ้มตัวหนอนของผีเสื้อหนอนปลอก เกิดจากความคิด สร้างปลอกเทียมจากเส้นใยหญ้าเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องของแมลงต่างๆ ที่จะมารบกวนผลมะม่วงให้กลุ่มเกษตรกร พวกเราใช้เวลาคิดค้นและทดลองกว่า 2 ปี ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ ทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ ที่อยู่รอบตัว มาปรับประยุกต์ใช้ ผิดบ้างถูกบ้าง จนกลายเป็นชิ้นงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยปลอกเทียม ที่พวกเราศึกษาและประดิษฐ์ขึ้นมาจากเส้นใยหญ้าแฝกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากรอบบริเวณโรงเรียน หรือจะทดลองใช้เส้นใยหญ้าอื่นๆ ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นแทนก็ได้ นำมาขึ้นรูปด้วยวุ้นน้ำหมักเพื่อประสานยืดเกาะเส้นใยเป็นแผ่นลักษณะคล้ายกระดาษสา และตัดเป็นทรงมีลักษณะเหมือนหนอนปลอกผนังรูปกระสวย ปากปลอกทั้ง 2 ด้านแคบและด้านบนชุบด้วยน้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัสที่พวกเราสกัดเอง ปลอกเทียมเคลือบด้วยน้ำยางพาราป้องกันน้ำและเชื้อราเข้าไปด้านในครับ”
น้องปลื้ม-นายธีรภัทร ศรีแก้ว อายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 เล่าถึงความสำเร็จให้ฟังว่า “ผลงานที่พวกเราร่วมกันประดิษฐ์ขึ้น ได้ถูกนำไปให้เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงทดลองใช้จริงในการห่อผลมะม่วงบนต้นเป็นระยะเวลา 45 วัน ตั้งแต่ห่อจนเก็บผลผลิต ปรากฏว่าปลอกเทียมป้องกันศัตรูพืชจำพวกแมลงวันทอง มดแดง และเพลี้ยแป้งศัตรูตัวร้ายของผลมะม่วงได้ 100% ในขณะที่ถุงกระดาษป้องกันแมลงวันทองได้ 100% แต่ไม่สามารถป้องกันมดแดงและเพลี้ยแป้งได้ ซึ่งปลอกเทียมใบละ 1-2 บาท แต่ถุงกระดาษห่อผลไม้ใบละ 2-3 บาท ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวปลอกเทียมจะทำหน้าที่ห่อหุ้มและกันกระแทกได้เทียบเท่าการห่อด้วยกระดาษ โฟม หรือวัสดุกันกระแทก หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรสามารถนำปลอกเทียมมาดัดแปลงเป็นภาชนะแทนการใช้ถุงพลาสติก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นปลอกเทียมยังมี QR Codeที่สามารถเก็บข้อมูลแหล่งที่มาของมะม่วงแต่ละผล เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและทราบข้อมูลก่อนรับประทาน และสุดท้ายนี้พวกเราขอขอบคุณกองทุนสุขภาพกับสภาวะโลกร้อนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่เห็นถึงความสำคัญและได้ให้การสนับสนุนการสร้างสรรค์งานวิจัยในครั้งนี้ครับ”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี