6 มีนาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" มีเนื้อหาดังนี้....
"อัพเดตข้อมูลวัคซีนโควิด-19 กับสตรีมีครรภ์"
มีคนถามเรื่องนี้กันมาพอสมควรในช่วงที่ผ่านมา
จากข้อมูลวิชาการที่มีตอนนี้ จึงขอสรุปมาให้ดังนี้ครับ
1. มีวัคซีนโควิด-19 อยู่ 3 ชนิด ที่มีการศึกษาความเป็นพิษต่อการการเจริญพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อนในหนู (Development and Reproductive Toxicity: DART) แล้วพบว่า "ไม่เกิดผลกระทบข้างเคียงใดๆ ในหนู"
วัคซีนที่ทำวิจัยนี้ไปแล้ว ได้แก่ Pfizer/Biontech, Moderna และ Johnson&Johnson
2. จากการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมา มีข้อมูลที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Nature Reviews Immunology ในวันที่ 3 มีนาคม 2564 นี้
โดยนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบอัตราการเกิดการแท้งในสตรีที่เกิดตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ระหว่างที่เป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยวัคซีน Pfizer/Biontech, Moderna, และ Astrazeneca
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบอัตราการแท้ง ระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน จะพบว่า
วัคซีน Pfizer/Biontech:
- กลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีสตรีตั้งครรภ์ 11 คน จาก 18,860 คน โดยไม่มีใครแท้งเลย คิดเป็นอัตราการแท้ง 0%
- กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน มีสตรีตั้งครรภ์ 12 คน จาก 18,846 คน โดยมีคนแท้ง 1 คน คิดเป็นอัตราการแท้ง 8%
วัคซีน Moderna:
- กลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีสตรีตั้งครรภ์ 6 คน จาก 15,181 คน โดยไม่มีใครแท้งเลย คิดเป็นอัตราการแท้ง 0%
- กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน มีสตรีตั้งครรภ์ 7 คน จาก 15,170 คน โดยมีคนแท้ง 1 คน คิดเป็นอัตราการแท้ง 14%
วัคซีน Astrazeneca:
- กลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีสตรีตั้งครรภ์ 12 คน จาก 5,807 คน โดยมีคนแท้ง 2 คน คิดเป็นอัตราการแท้ง 17%
- กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน มีสตรีตั้งครรภ์ 9 คน จาก 5,829 คน โดยมีคนแท้ง 3 คน คิดเป็นอัตราการแท้ง 33%
ด้วยข้อมูลดังกล่าว จึงพอจะอนุมานได้ระดับหนึ่งว่า วัคซีนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้เกิดการแท้งในสตรีมีครรภ์
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการดำเนินการวิจัยวัคซีนในสตรีมีครรภ์ โดยทางวัคซีน Pfizer/Biontech กำลังดำเนินการในอเมริกา เพื่อจะได้ทำการประเมินเรื่องอื่นๆ อย่างรอบด้านอีกด้วย
จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้น แม้จะมีข้อมูลที่จำกัด แต่ก็คงพอจะช่วยให้คุณผู้หญิงที่มีครรภ์ หรือกังวลใจ อาจใช้ในการประกอบการพิจารณาตามสถานการณ์ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ตามหลักการแพทย์แล้ว ตอนที่มีการตั้งครรภ์สามเดือนแรก หากหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารเคมีต่างๆ ได้ ก็น่าจะดี ยกเว้นจำเป็นจริงๆ และหากจำเป็นต้องใช้ ก็ควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลเราอย่างถี่ถ้วน พิจารณาข้อมูลวิชาการที่มีอยู่ ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลความรู้ ไม่ควรใช้อารมณ์หรือความอยากในการตัดสินใจ
ด้วยรักและปรารถนาดี
อ้างอิง
Male V. Are COVID-19 vaccines safe in pregnancy? Nature Reviews Immunology. 3 March 2021.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี