ผมยังจำเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วได้ดี ผมมีโอกาสเดินทางไปพื้นที่รอยต่อภาคเหนือและภาคอีสาน ผ่านสวนยางพาราจำนวนมาก เจอรถตู้วิ่งมาดีๆเข้าโค้งแล้วหมุนประสบอุบัติเหตุตกลงข้างทาง อีกสักครู่เห็นบิ๊กไบค์ล้มลื่นไถลตามพื้นที่ถนนบริเวณเดียวกันผมรีบจอดรถลงไปช่วย โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไรมาก
ระหว่างที่ผมเดินบนถนนจะเอาสายสลิงไปเกาะรถตู้ เพื่อลากขึ้นมาบนถนน เนื่องจากรถยนต์ผมมีวินซ์ (รอกที่ใช้ลากรถหรือวัตถุที่มีน้ำหนักมาก) นั้น ผมเกือบล้มเหมือนเหยียบน้ำมัน ซึ่งต่อมาผมถึงรู้ว่า ไม่ใช่น้ำมัน แต่มันคือ น้ำยางพารา ที่ชาวบ้านขนส่งแล้วหกลงบนถนน จนกลายเป็นสาเหตุทำให้รถตู้ และบิ๊กไบค์ประสบอุบัติเหตุในครั้งนี้
เมื่อเร็วๆ ได้อ่านข่าว คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ไฟเขียวให้ กยท.ดำเนินโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ระยะ 2 หลังจากประสบผลสำเร็จในโครงการนำร่องที่ดำเนินการเฉพาะยางก้อนถ้วยของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ ทำให้ผมนึกถึงอุบัติเหตุที่ผมได้เห็นเมื่อปีที่แล้ว
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. บอกว่า โครงการนำร่อง นอกจากจะประสบผลสำเร็จทำให้ราคายางก้อนถ้วยมีเสถียรภาพมากขึ้น เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากผลต่างของราคาที่จำหน่ายสูงสุดถึง 4.50 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคายางที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 26.56 บาทต่อกิโลกรัมเป็นราคาเฉลี่ย 29.72 บาท หรือเพิ่มขึ้น 3.16 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอาชีพการทำสวนยาง สามารถลดมลภาวะเป็นพิษ ลดอุบัติเหตุทางท้องถนน จากการขนส่งยางก้อนถ้วยเปียกบนท้องถนน ทำให้ถนนเลื่อนได้
วันนี้ขอนำโครงการดีๆ ของ กยท.ดังกล่าวมาเขียนถึงนะครับ
สถานการณ์ราคายางเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากราคายางแผ่นลมควันชั้น 3 เมื่อเดือนพฤษภาคมราคาพุ่งขึ้นถึง 70 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้ลงมาเหลือที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับยางแผ่นดิบขณะนี้ราคา 56 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสดลงมาต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม
การดำเนินโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ดังกล่าว กยท.มั่นใจว่าจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ เพราะเป็นการชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาด ช่วยให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอขายผลผลิต เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดน้อย ราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามกลไกทางการตลาด ในขณะที่ผู้ประกอบการจะได้ยางที่มีคุณภาพที่ดี รวมทั้งยังเป็นการยกระดับราคาซื้อขายยางในตลาด และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับกยท.จะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนบริหารจัดการยางทั้งหมด
โครงการนี้ กยท. ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะยางก้อนถ้วยเท่านั้น แต่ยังขยายผลดำเนินโครงการฯ กับน้ำยางสด ยางแผ่นดิบยางแผ่นรมควันด้วย โดยตั้งเป้าในการดำนินโครงการฯไว้ ประมาณ 20,300 ตัน ระยะเวลาของโครงการตั้งแต่ขณะนี้ไปจนถึงเดือน กันยายน 2564
แต่ยางที่เข้าร่วมโครงการ กยท.ได้กำหนดเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นยางที่มีคุณภาพ โดย ยางก้อนถ้วยจะต้องมีเป็นยางที่มีค่า DRC 75% และสามารถเก็บได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยไม่เสียคุณภาพ ส่วนน้ำยางสด กำหนดค่า DRC 100% และจะต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยไม่เสียคุณภาพ ในแท็งก์ที่ได้มาตรฐานที่ กยท. กำหนด ในขณะที่ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน จะต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือนโดยไม่เสียคุณภาพ
เงื่อนไขนี่แหละ..ที่จะช่วยลดอุบัติเหตุที่ผมกล่าวในเบื้องต้นได้ สำหรับสถาบันเกษตรกรที่สนใจร่วมโครงการฯสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานของ กยท.ทั่วประเทศ
รัฐศักดิ์ พลสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี