ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา จัดงานแถลงข่าว การถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานนวัตกรรม เรื่อง อุปกรณ์เก็บกักละออง ป้องกันเชื้อโรคจากการทำฟัน เป็นผลงานที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การแถลงข่าวในครั้งนี้ มี รศ.สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มข. และคุณเซี่ยง อิง หวัง กรรมการ บริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด ร่วมแถลงถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานนวัตกรรม “อุปกรณ์เก็บกักละออง” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน และก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทันตบุคลากร และคนไข้ รวมถึงการสร้างความมั่นใจต่อสังคม จากนั้น ได้มีพิธีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะผู้ทรงสิทธิ อนุญาตให้ บริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด เป็นผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งสามารถนำ “อุปกรณ์เก็บกักละออง” ไปทำการผลิตและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้รับอนุญาตได้ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ผู้ลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีประกอบด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. และคุณเซี่ยง อิง หวัง กรรมการ บริษัทดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด ลงนามในสัญญา
งานวิจัย “อุปกรณ์เก็บกักละออง” ช่วยลดการกระจายเชื้อโรคจากการทำฟัน เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันของ รศ.สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มข. และทันตแพทย์สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล นักวิจัย ศิษย์เก่าคณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นงานวิจัยที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของทันตแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังควบคุมไม่ได้ เพราะมีโอกาสเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคระหว่างการทำหัตถการ ทำให้การทำงานด้านทันตกรรมมีความเสี่ยง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ซึ่งจุดเด่นในการใช้เป็นอุปกรณ์เก็บกักละอองนี้คือ การป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค ช่วยลดการสัมผัสละอองที่ฟุ้งกระจายในขณะปฏิบัติงานได้ถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ โดยทันตแพทย์จะใช้ครอบเฉพาะจมูกและปากคนไข้เท่านั้น จึงตัดปัญหาเสียงก้องหรือเสียงดังรบกวนคนไข้ ส่วนวัสดุที่ใช้ทำปลอกสวมแขนและฐานรอง ใช้วัสดุเช่นเดียวกันกับหน้ากากอนามัย (SMS Fabric) ซึ่งมีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่าน แต่อากาศไหลผ่านได้ดี โดยทางนักวิจัยได้มีการทดสอบการไหลของอากาศภายในเครื่องพบว่ามีอากาศใหม่ที่ไหลเวียนเข้าไปภายในกล่อง ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 9 ลิตรต่อวินาที และจากการตรวจสอบภายในอุปกรณ์ ไม่พบแรงต้านการหายใจแต่อย่างใด สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยจะสามารถหายใจได้โดยสะดวก และไม่รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด แม้จะนอนทำฟันเป็นเวลานาน
รศ.สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ กล่าวว่า “ในด้านของความปลอดภัยในการทำความสะอาดหลังจากทำหัตถการแล้ว ทางทีมนักวิจัยได้มีการออกแบบให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทำการฆ่าเชื้อโดยการพ่นหมอกน้ำยาฆ่าเชื้อ ElectrolyzedOxidizing Water (EOW) โดยต่ออุปกรณ์ เข้าไปในกล่องเก็บกักละออง พบว่า EOW มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้มากกว่า 99.99% หลังจากนั้นให้ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเฉพาะทางทันตกรรม หรือใช้ทิชชู่เปียกที่อาบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเฉพาะทางทันตกรรมทำความสะอาดอีกหนึ่งรอบจะสามารถฆ่าเชื้อได้ 100% จะช่วยให้การทำงานของทันตแพทย์ และผู้ช่วยทันตแพทย์ปลอดภัย ไม่ได้รับการติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ทางทันตกรรม”
ด้าน ทพ.สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล กล่าวว่า “จากการออกแบบและการทำสอบในด้านของความปลอดภัย สมรรถนะในการทำงาน การทำความสะอาดหลังจากการอุปกรณ์แล้ว นับได้ว่า “อุปกรณ์เก็บกักละออง” เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ทันตแพทย์ และคนไข้ปลอดภัยขึ้น และลดการติดเชื้อจากละอองที่เกิดจากการทำฟัน โดย“อุปกรณ์เก็บกักละออง”ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องแรกในโลกที่ทำงานได้เช่นนี้”
สมใจ นามสุดตา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี