จ่อล็อกดาวน์ไม่มีกำหนด
ยอดติดเชื้อไม่ลด
พุ่งทะลุ1.7หมื่นคน/ตาย117
สธ.เปิดโมเดลไม่มีมาตรการเข้ม
อาจป่วยพุ่ง4หมื่นต่อวัน-ดับ500
ย้ำฉีดไฟเซอร์ลอตแรกให้4กลุ่ม
ศบค.จับตาคลัสเตอร์โรงงาน
โควิดลาม518แห่งใน49จังหวัด
นายกฯยังไม่ใช้ยกระดับล็อกดาวน์ อ้างทีมแพทย์ยังเห็นชอบมาตรการเดิม วอนปชช.ร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนดช่วยลดระบาด ยันไม่ท้อพร้อมแก้ปัญหาอุปสรรคเต็มที่ เผยระบบสาธารณสุขไทยไม่มีปัญหาแต่ขาดบุคลากรต้องดูแล 70 ล้านคน แนะสร้างชุมชนสีฟ้าใช้แพทย์ทางเลือกสกัดโควิด ไฟเซอร์1.5 ล้าน จากสหรัฐถึงไทยแล้ว รัฐบาลเร่งจัดสรร 5 กลุ่มจำเป็นการันตีไม่มีวีไอพี ติดเชื้อไทยไม่ลดวันเดียว 17,345 ตาย117 ศพ ดับคาบ้านอีก 9 ราย หายป่วยหลักหมื่น คลัสเตอร์โรงงานทั่วปท.ป่วย 3.6 หมื่นราย
ศบค.ลดวันแถลงเหลือจันทร์-พฤหัส รายงานข่าวยืดล็อกดาวน์ไม่มีกำหนด รอสธ.ชงข้อเสนอผ่อนมาตรการร้านอาหารในห้างขายออนไลน์ สธ.เปิดแบบจำลองสถานการณ์ระบาด ถ้าไม่ล็อกดาวน์ยอดป่วยพุ่งเกิน4หมื่นต่อวัน ตาย 500 คนจุดพีคเดือนก.ย. แต่ถ้าล็อกดาวน์นาน 2 เดือนลดติดเชื้อได้ 50%
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ส่งผ่านคณะทำงาน ซึ่งบันทึกเทปเมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นายกฯยังไม่ยกระดับล็อคดาวน์
โดยนายกฯกล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด ตั้งแต่ประกาศล็อกดาวน์วันที่ 12 กรกฎาคม และจะครบ 14 วันวันที่ 2 สิงหาคม ที่ตัวเลขผู้ป่วยยังไม่ลดลงจะเพิ่มการล็อกดาวน์หรือยกระดับมาตรการที่สูงขึ้นหรือไม่ว่า ต้องหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกวันประชุมร่วมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ชุดเล็กทุกวัน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ประชุมทุกวัน ส่วนจะล็อกดาวน์เข้มข้นหรือไม่ ขณะนี้คณะแพทย์ และทีมสาธารณสุขยังคงเห็นชอบในมาตรการเดิมอยู่
“ความเห็นสาธารณสุขและการแพทย์ มาตรการเดิมที่เราออกไปยังใช้ได้อยู่ช่วงนี้ และต้องพิจารณาต่อไปตามห้วงระยะเวลา เราอาจเห็นตัวเลขแดง มีขึ้นมีลง แต่ตัวเลขผู้รักษาหายก็สูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญ ส่วนนอกระบบเท่าที่ทราบก็ดูแลกันเองในชุมชนในพื้นที่ มีผู้หายป่วยไปอีกเยอะ ดังนั้น ขอให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการขั้นต้นของตัวเอง และตามมาตรการที่รัฐกำหนด ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ร่วมมือปฎิบัติตามมาตรการสธ.จำเป็น
นายกฯกล่าวต่อว่า การที่ตัวเลขไม่ลดลง สาเหตุมาจากปลายปัจจัย ถ้าเราปฏิบัติการตามมาตรการที่ประกาศไปแล้วทุกคน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญคือความร่วมมือในการปฏิบัติ หากยังทำในสิ่งที่ห้ามก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ หากเราพิจารณาการระบาดของเราอาจมองดูแล้วน่าตกใจ การเสียชีวิตแต่ละวัน แต่อยากให้สนใจตัวเลขเพื่อนบ้าน ของต่างประเทศบ้าง ทั่วโลกได้รับผลกระทบด้วย มากบ้างน้อยบ้าง อันดับต้นๆมีหลายประเทศ มากกว่าเราหลายเท่า ของเราตั้งใจว่าไม่อยากให้มีการเสียชีวิต หากทำตามมาตรการที่กำหนดออกไปครบทุกอย่าง อย่างน้อยก็ป้องกันตัวเองได้ก่อน ป้องกันครอบครัวได้ก่อน ตัวเองไม่ไปติดเชื้อจากข้างนอก ไม่เอาเชื้อไปแพร่ให้คนในครอบครัว
บุคลากรแพทย์ไม่พอดูแล70ล้านคน
นายกฯกล่าวว่า ตัวเลขสีแดงที่ขึ้นทุกวัน ตนรู้ว่าประชาชนสนใจ แต่ก็อยากให้สนใจว่าต่างชาติเขาเกิดอะไรขึ้น และเขาทำอะไรอย่างไร มาตรการที่ผ่านมามีทั้งล็อกดาวน์เต็มอำนาจ ไม่ล็อกดาวน์ ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมือนกันเขาก็ยังระงับไม่อยู่ หากไม่ร่วมมือกันทั้งหมด ปัญหาในระบบต้องมีเพราะคนจำนวนมาก เราใช้บุคคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร เพื่อดูแลคนเกือบ 70 ล้านคน ตนคิดว่าระบบที่เรามีอยู่ไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือ ความเพียงพอของเจ้าหน้าที่ที่ต้องไปดูแลมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยอาสาสมัครลงไปในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ยังปรับแนวทางการรักษาโดยนำ Antigen Test Kit (ATK) เข้ามาช่วยตรวจหาเชื้อ ซึ่งแพทย์บอกว่าตรวจครั้งเดียวอาจไม่ได้ผล 100% อาจต้องรอ 7 วันตรวจอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเข้าสู่การตรวจ RT-PCR และเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป
ยันไม่ท้อพร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
“ผมเพียงแต่พูดว่า ผมเห็นใจ ผมเสียใจ และผมก็พยายามแก้ปัญหาอุปสรรคที่มีมากมาย นายกรัฐมนตรีก็ยินดีทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และต้องร่วมมือระหว่างกันด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ตรงกันถึงจะแก้ปัญหาได้ นายกฯทำงานไม่เคยทิ้งสักงาน คงไม่ใช่โควิดอย่างเดียว โควิดเป็นเรื่องหลักที่ประชาชนเดือดร้อน แต่มีเรื่องอย่างอื่นตามมาด้วย ทั้งคุณภาพชีวิต การต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การค้าการลงทุน ต้องทำทุกเรื่อง นายกฯไม่เคยท้อ เพียงแต่เสียใจกับคนที่สูญเสีย และให้กำลังใจคนทำงาน อย่าท้อแท้ เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยกัน เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน”นายกฯระบุ
ตั้งรพ.สนามในหน่วยทหาร-ตร.
และว่า เรื่องที่เป็นกังวลอีกเรื่องคือ ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวอยู่ที่บ้าน นอกจากนั้น ยังแก้ปัญหาสายโทรศัพท์ที่ปลดล็อกเปิดช่องทางให้มากขึ้นให้บริการฟรี โดยให้กสทช.ช่วยดูแลต้องขออภัยเรื่องนี้ด้วย และพยายามแก้ปัญหาแล้ว ส่วนเรื่องรักษาตัวที่บ้าน ก็มีชุดแพทย์ลงไป หากเจ้าหน้าที่เข้าไปถึงหน้าบ้านหากมีอะไรก็บอกเขา และประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยราชการได้ทุกที่ ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้มีการป่วย เจ็บ ตายอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน แต่ทุกคนต้องช่วยกัน หากพบแจ้งไปหน่วยต่างๆ ตอนนี้หน่วยทหาร ตำรวจปรับเป็นโรงพยาบาลสนาม มีหลายสิบแห่ง ช่วยดูแลประชาชน เราต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนทุกโอกาส อาจมีคนไม่ดีอยู่บ้างขอให้แจ้งมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี จะรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด
สั่งสร้างชุมชนสีฟ้าใช้แพทย์ทางเลือก
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดว่า หากเราประกาศตัวเลขแต่ตัวแดงทั้งหมด พื้นที่ทั้งหมดเป็นจังหวัด ดูน่ากลัวเกินไปหรือไม่ จึงให้ไปดูเรื่องชุมชนสีฟ้า ซึ่งสีฟ้าคือชุมชนหรือหมู่บ้านที่ประชาชนร่วมมือกัน ปกป้องตัวเองไม่ให้เป็น ซึ่งวันนี้มีหลายชุมชนหลายหมู่บ้าน และตนได้ยินผู้ว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงที่โคราช และอาจจะมีที่อื่นๆอีก ก็บอกพร้อมทำตรงนี้ เพราะหลายจังหวัดมีหลายพันหมู่บ้าน บางหมู่บ้านไม่มีติดเชื้อ เราต้องสร้างความมั่นใจและรักษาแพทย์ทางเลือกลงไป เป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ และเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่น ตนสนับสนุนทุกจังหวัดทำแบบนี้
“อยากฝากทุกคนช่วยนำพาชุมชน หมู่บ้านของท่านให้เป็นพื้นที่สีฟ้า เป็นพื้นที่ปลอดภัยดูแลซึ่งกันและกัน วันนี้หากมองตัวเลขสีแดงอย่างเดียวไม่มีอะไรใหม่ ต่างประเทศเขาไม่เปิดเผย แต่เราไม่ปกปิด บางประเทศล็อกดาวน์และปลดล็อกแล้วล็อกใหม่ ไม่เห็นใครแก้ปัญหาได้สักที ก็เหมือนกัน ผมพบทูตมา 4 ประเทศชมไทยหมด ถึงมีตัวเลข แต่ยังมั่นใจระบบสาธารณสุขของเรา เพราะมีชื่อเสียงมานาน” นายกฯกล่าว
พร้อมสนับสนุนงบ/ต้องสุจริตโปร่งใส
นายกฯกล่าวถึงเรื่องงบประมาณว่า ต้นเรื่องมาจากกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เขาต้องดำเนินการเบิกจ่าย หากไม่พอก็บอกมา รัฐบาลพร้อมดูแล ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ช้า เบิกจ่ายช้า กลายเป็นว่ารัฐบาลผิดอีก ตนก็ไม่ได้โทษว่าเขาผิด แต่เราก็สั่งเต็มที่ เตรียมอนุมัติให้เร็วที่สุด แต่ต้องระวังให้สุจริต เพราะเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ตนก็ต้องระวังตรงนี้ด้วย ไม่ใช่ขี้เหนียวอะไรแต่ต้องรักษาระบบเอาไว้ให้ได้
นายกฯยังยืนยันว่า รัฐบาลจะทำงานเต็มความสามารถ ถ้าวันนี้ไม่ทำกันต่อเนื่องกันไปให้ได้ ไม่มีทางสำเร็จ เพราะเราเริ่มต้นมาก็ต้องมีจังหวะที่ตัวเลขสูงขึ้นและลดลง ซึ่งเวลาที่จำนวนลดลงก็ทำดี พอตัวเลขสูงขึ้นมาก็จะดูว่าไม่ดีตรงไหน มีปัญหาตรงไหนก็แก้ตรงนั้น ช่วยกัน ฝากสื่อด้วย ตนไม่เคยมีปัญหากับสื่อ
ไฟเซอร์1.5ล้านถึงไทยฉีด5กลุ่มปัดVIP
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไปรับมอบวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส ที่สหรัฐอเมริกามอบให้ไทย ซึ่งนายกฯได้รับรายงานแล้วและขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯพร้อมย้ำว่า การกระจายวัคซีนต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนด เน้นฉีดบุคลากรแพทย์ด่านหน้า และกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น ต้องไม่มีกรณีจัดสรรไปยังบุคคลสำคัญ หรือนอกกลุ่มที่กำหนดไว้เป็นอันขาด
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่คณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 กำหนดว่าจะได้วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก 1.54 ล้านโดส ประกอบด้วย 1.บุคลากรแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยทั่วประเทศ เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 700,000 โดส 2.ผู้เสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ที่มีสัญชาติไทย 645,000 โดส 3.ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักการทูต นักศึกษา 150,000 โดส 4.ทำการศึกษาวิจัย (ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม) 5,000 โดส และ 5.สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ 40,000 โดส
ทูตสหรัฐฯย้ำเตรียมให้อีก1ล้านโดส
ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงข่าวผ่านระบบ Zoom กรณีวัคซีนไฟเซอร์ ที่รัฐบาลสหรัฐบริจาคให้รัฐบาลไทย 1.5 ล้านโดส โดนยืนยันว่า สหรัฐมีเป้าหมายที่จะบริจาควัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดสให้ไทย นอกจากวัคซีนที่มาถึงวันนี้ รวมทั้งหมด 2.5 ล้านโดส เพราะเห็นการระบาดของไวรัสเดลตาที่ระบาดรวดเร็วในไทย รวมถึงบุคลากรแพทย์ของไทย ที่กำลังเผชิญความยากลำบากขณะนี้ สำหรับวัคซีนที่เราจะให้เพิ่ม 1 ล้านโดส ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะเป็นยี่ห้อใด และย้ำว่าการมอบวัคซีนของเราเป็นการให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไข วัตถุประสงค์คือ การช่วยชีวิตผู้คน ส่วนการกระจายวัคซีนนั้นเป็นหน้าที่หลักจองรัฐบาลไทย ทั้งนี้ เราขอสนับสนุนหลักการที่ว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือมาจากประเทศใด ควรเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้ ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย ไม่ว่าคนไทยหรือคนชาติไหนก็สามารถแพร่กระจายรูปนี้ได้เช่นกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนให้ได้มากที่สุด
ติดเชื้อไม่ลด17,345-หายป่วย10.7หมื่น
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด – 19 ประจำวันว่า ไทยพบผู้ป่วยใหม่ 17,345 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 16,656 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,823 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,833 ราย มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 681 ราย มาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 578,375 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 10,678 ราย หายป่วยสะสม 381,170ราย อยู่ระหว่างรักษา 192,526 ราย อาการหนัก 4,595 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1,012 ราย
ตายเพิ่ม117-ดับคาบ้าน9กทม.มากสุด
มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 117 ราย เป็นชาย 62 ราย หญิง 55 ราย กระจายตัวในหลายจังหวัด โดยมากสุดอยู่ใน กทม.55 ราย นอกจากนี้ พบผู้เสียชีวิตที่บ้าน 9 ราย อยู่ที่ กทม.8 ราย และปทุมธานี 1 ราย ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 29 ก.ค. มีจำนวน 420,148 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 17,011,477 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 197,365,402 ราย เสียชีวิตสะสม 4,214,617 ราย
คลัสเตอร์รง.518แห่งเพชรบุรีอันดับ1
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานการระบาดในพื้นที่โรงงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-29 กรกฎาคม พบการระบาดในโรงงาน 518 แห่ง ผู้ติดเชื้อ 36,861 ราย ครอบคลุม 49 จังหวัด 5 อันดับแรกได้แก่ เพชรบุรี 4,464 ราย เพชรบูรณ์ 3,487 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 2,538 ราย สมุทรสาคร 2,496 ราย สงขลา 2,209 ราย ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมโลหะ และอุตสาหกรรมพลาสติก นอกจากนี้ มีรายงานผลตรวจสอบประเมินตัวเองผ่านระบบออนไลน์ ไทยสตอปโควิดพลัสของโรงงาน ข้อมูลระบุว่า โรงงานทุกขนาดมีทั้งสิ้น 64,038 แห่ง ประเมินแล้ว 18,005 แห่ง หรือคิดเป็น 28% ผ่านเกณฑ์ 12,256 แห่ง หรือ 68% ไม่ผ่านเกณฑ์ 5,749 แห่ง หรือ 31% จัดทำแผนสุ่มตรวจประเมินทั้งสิ้น 955 แห่ง ขณะนี้ตรวจสอบครบแล้ว
ศบค.ลดวันแถลงเหลือจันทร์-พฤหัสฯ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า การสื่อสารข้อมูลข่าวสารขณะนี้ไปเร็วมาก มีการรายงานข้อมูลทั่วทั้งโลกในลักษณะเรียลไทม์สามารถเข้าไปดูได้ทุกเวลา ดังนั้น การแถลงข่าวศบค.จะปรับเปลี่ยนมาเป็นทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี โดยนำสาระสำคัญการประชุมต่างๆมาเผยแพร่ เน้นการสื่อสารทางเฟซบุ๊กมากขึ้น โดยผอ.ศบค.จะสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ดูแลศูนย์ข้อมูลโควิด ที่มีคนติดตามประมาณ 1.2 ล้านคน ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ตั้งแต่เวลา 07.00น.ที่จะอัพเดทข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขผ่านอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ สามารถติดตามเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งการรักษา การให้วัคซีนฯผ่านการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกวันในเวลา13.30 น.
ติดเชื้อพุ่งไม่หยุดยืดล็อกดาวน์ไร้กำหนด
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ที่จะครบกำหนดเวลา 14 วัน วันที่ 2 สิงหาคม เบื้องต้นยังคงปฎิบัติตามข้อกำหนดต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เนื่องจากข้อกำหนดฉบับดังกล่าวกำหนดระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่องไว้อย่างน้อย 14 วัน โดยไม่ได้ระบุวันสิ้นสุดข้อกำหนดไว้ชัดเจน ดังนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระบาด และขณะนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง ศบค.จึงไม่ต้องพิจารณาขยายเวลาและให้คงการปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ที่มีอยู่ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มตามที่ผู้ประกอบการเสนอเช่นให้เปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า อาจมีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่ให้ขายผ่านช่องออนไลน์เท่านั้น ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้แต่ขณะนี้ สธ.ม่ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเรื่องดังกล่าวมาให้ศบค.ชุดเล็กพิจารณาแต่อย่างใด
ระบบสธ.ไทยดูแลคนป่วยเกือบ2แสน
เวลา13.30น.ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ประเด็นคาดการณ์แนวโน้มติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย โดยนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกระบาดรุนแรงขึ้นมากกว่า 6 แสนรายต่อวัน ทั่วโลกสะสม 198 ล้านราย คาดว่าไม่กี่วันจะถึง 200 ล้านราย ขณะที่ประเทศไทยติดเชื้อจำนวนมากเช่นกัน โดยไทยวันนี้ติดเชื้อ 17,345 ราย โดยภูมิภาคมากกว่ากรุงเทพฯเล็กน้อย เนื่องจากมีโครงการให้ผู้ติดเชื้อกลับรักษาภูมิลำเนา ปัจจุบันกลับแล้วกว่า 5 หมื่นคน ซึ่งผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะไม่แพร่เชื้อ เพราะจัดระบบดูแลที่บ้านและชุมชน หรือโรงพยาบาล ปัจจุบันรับดูแลผู้ป่วยในระบบสาธารณสุขเกือบ 2 แสนคน เราก็พยายามควบคุมไม่ให้ถึงหรือเกินไปกว่านี้
สต๊อกยาฟาวิพิราเวียร์สค.-กย.80ล้านเม็ด
ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า เรื่องการรักษา ปัจจุบันให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามเกณฑ์เร็วที่สุด ปัจจุบันสำรองยาเดือนสิงหาคม 40 ล้านเม็ด และเดือนกันยายนอีก 40 ล้านเม็ด มีจำนวนมากพอสมควรและส่งไปยังภูมิภาค แต่ละจังหวัดมียาตัวนี้อยู่แล้ว คนไข้ที่อยู่ในระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) มีโอกาสได้รับยาเหล่านี้ให้การรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และช่วยลดป่วยหนัก และเสียชีวิตได้
ไม่ล็อคดาวน์ติดเชื้อสูงเกิน4หมื่น/วัน
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขแผนภูมิกราฟผู้ติดเชื้อใหม่รายวันและผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในสถานการณ์จริงเทียบกับโมเดลการคาดการณ์ โดยนำมาเทียบเคียงกับช่วงที่ใช้มาตรการล็อคดาวน์ปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อเปรียบเทียบวิเคราะห์สถานการณ์ ช่วง3-4เดือนข้างหน้า จะพบว่าผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุด ถ้าหากไม่มีมาตรการล็อคดาวน์และใช้มาตรการเข้มข้น อาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงกว่า 4 หมื่นคนต่อวัน และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณวันที่ 14 กันยายน
คาดล็อคดาวน์2เดือนลดติดเชื้อเหลือ2หมื่น
อย่างไรก็ตาม หลังมีมาตรการล็อคดาวน์ คาดว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรการอยู่บ้านมากที่สุดและ work from home และหยุดกิจกรรมรวมตัวชุมนุมรวมตัว จะลดติดเชื้อลงได้ 20% นาน 1 เดือน และตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจาก 40,000 กว่าราย จะลดลงเหลือประมาณ 3 หมื่นกว่าราย โดยมีผู้ติดเชื้อสูงสุดประมาณต้นเดือนตุลาคม และหากเราใช้มาตรการล็อคดาวนานกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 20% ทุกคนอยู่บ้าน จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงจาก 4 หมื่นคน เหลือประมาณ 3 หมื่นกว่าราย และหากล็อคดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% เพิ่มระยะเวลาจาก 1 เดือนเป็น 2 เดือน จะลดติดเชื้อลงเหลือ 2 หมื่นราย
“มาตรการล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่า ล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และสธ.จะนำเสนอศบค.ต่อไป” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ไม่ล็อคดาวน์ตายมากกว่า500คน/วัน
นพ.โอภาสยังคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน สถานการณ์ที่ไม่ได้ล็อคดาวน์ หรือมีมาตรการใดนั้น แบบจำลองพบว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน จะมีจุดสูงสุดวันที่ 28 กันยายน เมื่อเทียบกับสถานการณ์มีมาตรการล็อคดาวน์ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่เกิน 400 รายต่อวัน มีสูงสุดวันที่ 26 ตุลาคม ทั้งนี้ หากมีมาตรการล็อคดาวน์นานขึ้น จํานวนผู้ติดเชื้อจะลดลง และจุดสูงสุดจะอยู่ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ จากมาตรการของรัฐบาล ที่ให้เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มเสี่ยงและหญิงตั้งครรภ์ ค้นหาผู้ป่วย ล๊อคดาวน์ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 100 กว่าราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกว้างขวางโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลาง ความร่วมมือของประชาชน งดกิจกรรมไม่จำเป็น พยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ และสแกนไทยชนะจะช่วยทำให้มาตรการป้องกันติดเชื้อส่วนบุคคลสู่ชุมชนมีประสิทธิภาพ ถึงการขอความร่วมมือให้นำกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรก และผู้สูงอายุ เกิน 60 ปี ไปฉีดวัคซีน จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตไม่มากอย่างที่จะเกิดขึ้น
รณรงค์ใส่แมสในบ้านให้มากกว่า20%
ที่กรมอนามัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแถลงผลสำรวจมาตรการป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19 ของประชาชนว่า จากเดิมมาตรการสวมหน้ากากป้องกันโควิดจะเน้นปฏิบัติเมื่อออกจากบ้านหรือไปที่สาธารณะ ปัจจุบันกลับพบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสสมาชิกในครอบครัว หรือเกิดกับผู้ใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่ระบาดขยายเพิ่มเช่นกัน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ดังนั้น การสวมหน้ากากในบ้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากขึ้นสำหรับทุกครอบครัว ทั้งนี้ จากผลสำรวจ Anamai Event Poll โดยกรมอนามัย ประเด็นพฤติกรรมป้องกันโรคโควิด-19 ในบ้านวันที่ 19–28 กรกฎาคม 1,324 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่กังวลว่าคนในครอบครัวจะแพร่เชื้อให้คนในบ้านร้อยละ 75 ขณะที่พฤติกรรมสวมหน้ากากตลอดเวลาในบ้านทำได้ทุกครั้ง เพียงร้อยละ 20 จึงจำเป็นต้องรณรงค์การสวมหน้ากากในบ้านให้เพิ่มมากขึ้น
“ขอความร่วมมือให้ทุกคนในครอบครัวสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในบ้านเพิ่มมากขึ้น และสวมให้ถูกวิธี ปิดจมูก ปาก คาง กระชับกับใบหน้า โดยเฉพาะต้องสวมหน้ากากเมื่อทำกิจกรรมใกล้ชิด เช่น ดูทีวีร่วมกัน พูดคุยกัน เมื่ออยู่ในห้องปรับอากาศร่วมกัน และต้องสวมหน้ากากเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงในบ้าน ร่วมกับพฤติกรรมการป้องกันโรคของสาธารณสุข และให้งดกินอาหารร่วมกัน ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี