วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
ประวัติศาสตร์‘ลูกหนัง’เมืองไทย  จากวัฒนธรรมนำเข้า..สู่กีฬามหาชน

ประวัติศาสตร์‘ลูกหนัง’เมืองไทย จากวัฒนธรรมนำเข้า..สู่กีฬามหาชน

วันจันทร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.
Tag : ประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองไทย
  •  

“ฟุตบอล” แม้จะไม่ใช่กีฬาประจำชาติไทย แต่เป็นกีฬาขวัญใจมหาชนชาวไทยอย่างแท้จริง หลายคนมีทีมเชียร์ทั้งระดับสโมสรลีกไทยและต่างประเทศ ตลอดจนทีมชาติที่มาฟาดแข้งกันในมหกรรมใหญ่ๆ อย่างฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร ฯลฯ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ ฟุตบอลกับเมืองไทยก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปีดังเรื่องเล่าจากงานบรรยาย “จากรั้ววังรั้วโรงเรียน สู่รั้วอคาเดมี : ประวัติศาสตร์เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพในสังคมไทย” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับแผนงานคนไทย 4.0 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้

พงศกร สงวนศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ แบ่งพัฒนาการของวงการฟุตบอลไทยเป็น 3 ยุคคือ 1.ยุครั้ววังเริ่มตั้งแต่ปี 2444 วังหรือราชสำนักเป็นสถานที่แรกที่รับกีฬาลูกหนังมาจากประเทศอังกฤษ โดยเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 และหลังจากนั้นได้มีการแปลกฎกติกา ให้กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) บรรจุเข้าหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ


อย่างไรก็ตาม โรงเรียนในสมัยนั้นยังไม่ได้กระจายไปทั่วประเทศอย่างในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากเขตวังมากนัก เนื่องจากเป็นยุคที่ประเทศไทยแบบรัฐสมัยใหม่เพิ่งถูกสร้างขึ้นผ่านการจัดระเบียบการปกครองแทนที่ระบบหัวเมืองแบบเดิม อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ เช่นเดียวกับการปรับปรุงระบบการศึกษาในยุคนั้นก็เป็นไปเพื่อสร้างพลเมืองในสังคมใหม่ โดยหนึ่งในลักษณะนิสัยอันพึงประสงค์ในสังคมใหม่คือการเคารพกติกา และกีฬาฟุตบอลก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาผู้คนให้มีนิสัยดังกล่าว

ฟุตบอลมีบทบาทในฐานะกลไกสร้างชาติไทย (หรือสยามในเวลานั้น) ชัดเจนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีการตั้งทีมฟุตบอลทีมชาติไทยขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ฟุตบอลยังมีบทบาทในฐานะเครื่องมืออบรมชายไทยให้มีบุคลิกภาพสมกับเป็นชายชาตรีด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2475 เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รายการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานต่างๆ ที่ริเริ่มจัดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ได้ถูกรัฐบาลคณะราษฎรระงับไป โดยเว้นว่างระหว่างช่วงปี 2475-2490

ฟุตบอลยุครั้ววังคาบเกี่ยวมาถึงช่วงสงครามเย็น หรือประมาณปี 2500-2520 เพราะแม้ฟุตบอลเริ่มออกจากรั้ววังไปบ้างแล้วผ่านโรงเรียนและการพัฒนาด้านต่างๆ ในยุคที่ สหรัฐอเมริกา สนับสนุน
งบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาประเทศไทยตามนิยาม “น้ำไหล-ไฟสว่าง-ทางดี” แลกกับการไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้คนไทยเริ่มได้ดูฟุตบอลต่างประเทศและเล่นฟุตบอลกันแพร่หลายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่นักฟุตบอลส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ไม่ห่างจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้วัง เช่น กลุ่มโรงเรียนจตุรมิตร

2.ยุครั้วโรงเรียน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2520 ฟุตบอลเริ่มเป็นกีฬาที่สังคมรับรู้ผ่านระบบโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในการปลุกปั้นนักฟุตบอล เมื่อประกอบกับระบบโทรคมนาคมพัฒนายิ่งขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า การดูฟุตบอลต่างประเทศจึงกลายเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งในชีวิตของคนไทย หลายคนเริ่มมีนักกีฬาในดวงใจ และคงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า “คนไทยเริ่มบ้าบอลในยุคนี้”เห็นได้จากเด็กและเยาวชน ดูฟุตบอลทางโทรทัศน์แล้วไม่สะใจ ต้องมาวาดลวดลายโชว์ฝีเท้ากันจนเหงื่อไหลไคลย้อยในสนามของโรงเรียนก่อนเข้าเรียน

แต่วงการฟุตบอลไทยในยุครั้วโรงเรียนยังอยู่ในระดับกึ่งอาชีพ หมายถึงนักกีฬาไม่ได้เล่นฟุตบอลเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างจริงจังเนื่องจากยังไม่มีระบบการจัดการแข่งขันที่มีมาตรฐานระดับอาชีพรองรับ แต่มีรายได้ในฐานะพนักงานขององค์กรต่างๆ ถึงกระนั้น ฟุตบอลยุครั้วโรงเรียนพบที่มาของนักกีฬาหลากหลายมากขึ้นทั่วทุกภูมิภาค เนื่องจากรายการแข่งขันที่กระจายไปทั่วประเทศซึ่งผู้จัดการแข่งขันมีทั้งหน่วยงานรัฐและธุรกิจเอกชน

“พอรายการแข่งขันมันกระจายออกไป มันเริ่มมีช่องทางให้นักฟุตบอลจากต่างจังหวัดได้โชว์ตัว เหมือนมีเวทีได้โชว์ตัว เช่น กีฬาเขต รายการแข่งขันเหล่านี้ก็เป็นช่องทางให้นักฟุตบอลจากต่างจังหวัดได้แสดงตัวในระดับประเทศ ถ้าผลงานโดดเด่นหน่อยเดี๋ยวโรงเรียนกีฬา ตรงนั้นตรงนี้ก็จะดึงไปเล่น เดี๋ยวสโมสรก็จะดึงไปเล่น อย่างไรก็ตาม ในด้านการจัดการแข่งขัน พวกสโมสรที่มีอยู่ในตอนนั้นก็ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะมีสโมสรแนวนี้เยอะมาก” พงศกร กล่าว

พงศกร ยังกล่าวถึงฟุตบอลในยุครั้วโรงเรียนอีกว่า ด้วยความที่สโมสรมีตั้งกระจุกตัวในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล คนไทยในช่วงเวลาดังกล่าวจึงไม่ค่อยรู้สึกอะไรกับฟุตบอลระดับสโมสรมากนัก ถึงขนาดต้องจ้างตลกมาแสดงระหว่างพักครึ่งเวลาก็มีมาแล้ว เมื่อเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลระดับจังหวัดที่ได้รับความนิยมมากกว่า เห็นได้จากรายการ “ไทยแลนด์คัพ” ที่เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2520 ฟาดแข้งตั้งแต่รอบจังหวัด ภาค จนสุดท้ายมาชิงชนะเลิศกันที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเกิดปรากฏการณ์ “สนามแตก”มาแล้ว เนื่องจากผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดกับทีมที่เข้าแข่งขันมากกว่าสโมสร

และ 3.ยุครั้วอะคาเดมี เริ่มตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เหตุที่ต้องเริ่มนับยุคนี้ในปี 2552 เนื่องจาก สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ออกระเบียบสำหรับการแข่งขันฟุตบอลที่สมาพันธ์เป็นผู้จัด กำหนดให้ 1.จะต้องให้เอกชนเป็นผู้จัดการลีก ห้ามรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยว โดยจัดการแข่งขันอย่างเป็นมืออาชีพตามมาตรฐานของ AFC เช่น ไฟต้องสว่างเท่าไร ขนาดสนามเท่าไร จำนวนที่นั่ง ความปลอดภัย ฯลฯ ระเบียบที่ AFC ตั้งขึ้นมา

ดังนั้นการปฏิรูปนี้เรียกว่ามาจากปัจจัยภายนอก กับ 2.สโมสรต้องจัดตั้งในรูปแบบนิติบุคคลหรือบริษัทเอกชนเท่านั้น ทำให้สโมสรต่างๆ ของหน่วยงานรัฐรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนธนาคารต้องปรับตัว “หลังการปฏิรูปใหญ่วงการฟุตบอลไทย เกิดลีกอาชีพขึ้นอย่างชัดเจน มีสโมสรฟุตบอลก่อตั้งตามจังหวัดต่างๆ ก็พบความนิยมในฟุตบอลสโมสรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก” เห็นได้จากรายได้ในปี 2557 ไทยลีกมีเม็ดเงินจากการขายตั๋วรวม 216 ล้านบาท เพิ่มมาหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2552 อันเป็นปีแรกที่เริ่มปฏิรูป ซึ่งอยู่ที่ 2.69 ล้านบาท

ตลอดจนเกิด “วัฒนธรรมแฟนบอล”ที่ผูกโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น สโมสรการท่าเรือ กับชาวชุมชนย่านคลองเตย การไปสนามจึงเป็นอะไรมากกว่าเพียงการไปชมฟุตบอล เพราะมีการรวมกลุ่มด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน “ยุคนี้การเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวสามารถทำได้จริง และหากฝีเท้าดีรายได้ก็ยิ่งสูงขึ้นไปด้วย” อย่างไรก็ตามบทบาทในการสร้างนักฟุตบอลของโรงเรียนกีฬาลดลง โดยมีอะคาเดมีของสโมสรฟุตบอลมาแทนที่ และอะคาเดมีเหล่านี้ลงทุนในการปั้นนักกีฬาสูงกว่าที่โรงเรียนกีฬาดำเนินการ

“เด็กหนุ่มจากต่างจังหวัดก็มีความหวังขึ้นมาว่า การเป็นนักฟุตบอลอาชีพจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้ ก็สะท้อนผ่านการลงทุน ผ่านการผลักดันให้ลูกๆ หลานๆของเขา ได้เข้าสู่โรงเรียนฟุตบอล อะคาเดมีฟุตบอลของสโมสร เพราะว่าหวังว่าโรงเรียนฝึกสอนฟุตบอลมันจะเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพต่อไป” พงศกร กล่าวในท้ายที่สุด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

นักวิชาการ‘กัมพูชา’ยกโพลเย้ยการเมืองไทยเปราะบาง ไม่เหมือน‘ฮุน เซน’ชาวเขมรศรัทธาท่วมท้น

'อดีตสว.สมชาย'สิ้นหวัง! พ.ร.บ.ตำรวจไร้ผล ชี้ระบบอุปถัมภ์-การเมืองทำปฏิรูปแป๊ก

รวบ3หญิงไทย อ้างหลบหนีแก๊งคอลฯ มุดชายแดนจากปอยเปตเข้าไทย

แก้เสียงปริ่มน้ำ!‘สุชาติ’จ่อลาออกสส. เปิดทาง‘ปาร์ตี้ลิสต์’ลำดับถัดไปทำหน้าที่ในสภา

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved