พบโรคASFในหมู
กรมปศุสัตว์เจอที่โรงฆ่าสัตว์นครปฐม
อย่าตกใจ-ไม่แพร่เชื้อสู่คน
ครม.อนุมัติงบ574ล้านบาท
ช่วยกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย
อธิบดีกรมปศุสัตว์แถลงพบโรค ASF ในสุกรจากโรงฆ่านครปฐม พร้อมประสานหารือภาคีเครือข่ายเพื่อควบคุมโรค ย้ำชัดไม่แพร่ระบาดติดต่อสู่คนขณะที่ครม.อนุมัติงบกลางปี’65 จำนวน 574.11 ล้านบาทเยียวยาผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ป้องกันโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าพื้นที่56จังหวัด ขณะที่กรมการค้าภายในเพิ่มจุดขายหมูราคาถูกจาก662จุด เพิ่มขึ้นอีก1,500จุด พร้อมตรึงราคาไก่เพิ่มอีก6เดือน
วันที่ 11ม.ค. 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF ในสุกร กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสื่อสังคมออนไลน์เผยข้อมูลว่าพบรายงานสถานการณ์การเกิดโรค African Swine Fever หรือ ASF ในสุกรนั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานโดยเร็ว ซึ่งจากประเด็นดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจสอบไประยะหนึ่งแล้ว ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากลเพื่อได้ขั้นตอนครบถ้วนละเอียดรอบคอบ รอบด้าน เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบ เมื่อรวบรวม และตรวจสอบข้อมูลได้ครบถ้วน จะรายงานให้สาธารณชนทราบ ตามความเป็นจริง โดยจะไม่มีการปกปิดหรือปิดบังใดๆ
โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการด่วนจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น ในวันที่ 8-9 ม.ค. 2565 รวมทั้งหมด 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และ โรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง โดยในวันที่ 8 ม.ค. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง และวันที่ 9 ม.ค. 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 4 ฟาร์ม 109 ตัวอย่าง และ 2 โรงฆ่า 4 ตัวอย่าง รวม 113 ตัวอย่าง เพื่อเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกรที่ฟาร์ม (blood sampling) และจากบนพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์ (surface swab) นำไปตรวจหาโรคส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์
ซึ่งผลการวิเคราะห์ตัวอย่างในเบื้องต้นจากจำนวนทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบผลวิเคราะห์เป็นลบจำนวน 308 ตัวอย่างและพบผลบวกเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่างจากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม โดยชุดเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุ เพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้มีมาตรการในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการเกิดโรค ASF ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มาตั้งแต่ต้น โดยล่าสุดได้ประสานหารือและทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรคแล้ว ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ขณะที่ล่าสุด ได้มีการประชุมคณะกรรมการวิชาการป้องกันควบคุมโรค ASF แล้ว เพื่อทราบผลการตรวจพบเชื้อ ASF จาก 1 ตัวอย่างที่เก็บมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม จากตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บมา 309 ตัวอย่าง โดยยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว กรมปศุสัตว์เห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรค ASF และรายงานไป OIE ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็วเหมือนดังที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมโรคอย่างเช่น โรคไข้หวัดนก และขอเรียนพี่น้องประชาชนให้ทราบว่าสุกรที่เป็นโรค ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคยังสามารถรับประทานเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส.
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ซึ่งเป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง โดยจะจ่ายเป็นค่าชดเชยราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 64–15 ต.ค. 64 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดเชยราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 แล้ว
นายธนกร กล่าวว่า การอนุมัติงบกลางฯ ในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในระหว่างวันที่ 23 มี.ค. 64 – 15 ต.ค. 64 ในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้ ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และ สุพรรณบุรี /ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว /ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ /ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร /ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ /ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยราคาสุกรที่ถูกทำลาย คิดเป็นเงิน จำนวน 574.11 ล้านบาท จำแนกเป็น เกษตรกร 4,941 ราย สุกร 159,453 ตัว
นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจัง ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) โดย ครม.ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งปี 2562 รวมทั้งได้มีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมทั้งชดเชย เยียวยาเกษตรกรรายย่อย เจ้าของฟาร์ม ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ดำเนินการในระบบการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง กำกับดูแล ให้เกษตรกร ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรค อาทิ ให้มีรั้วรอบฟาร์ม ให้มีจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบ สำรวจโรคตามหลักวิชาการ และมาตรฐานสากล พร้อมชี้แจงให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ที่สำคัญต้องลดความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะผู้บริโภค ในขณะนี้ให้มากที่สุด “ นายธนกร กล่าว
และว่านายกฯได้สั่งติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรารภก่อนเข้าวาระการประชุม ถึงเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปทำความเข้าใจกับประชาชนถึงมาตรการในการป้องกันตัว รวมถึงการเตรียมความพร้อม รัฐบาลยืนยันว่าควบคุมได้ เรามีแผนเผชิญเหตุ พร้อมกล่าวกับรัฐมนตรีว่า ช่วงนี้หลายคนอาจจะเหนื่อยหน่อย ทั้งจากงานและการหาเสียง ขอให้กำลังใจ และขอให้ประสบความสำเร็จ แต่ถึงอย่างไรขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนว่าจะเลือกอย่างไร ตอนนี้เรามีปัญหาหลายอย่าง ทั้งราคาข้าวของก็แพงขึ้น หมูแพง มีโรคระบาด ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าจะแก้ไขอย่างไร
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่สินค้าหลายอย่างขึ้นราคา แต่เหตุใดราคาข้าวเหนียวราคาไม่ได้ขึ้น ทำไมยังมีการลดปริมาณข้าวลงอีก ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ราคาข้าวมีราคาลดลง ทั้งนี้ นายจุรินทร์ แจ้งกับนายกฯว่า“หลังจากนี้อาจจำเป็นต้องของบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าในหลายชนิดที่แพงขึ้น ไม่ใช่เฉพาะราคาหมูแพงเท่านั้น อะไรที่จำเป็นก็ต้องของบ อย่างน้ำมันแพง ไฟฟ้าแพง ก็มีการอุดหนุน กระทรวงพาณิชย์เมื่อคราวจำเป็นก็ต้องขอ ไม่เช่นนั้นจะแก้ไม่ได้ ส่วนอะไรไม่จำเป็นก็ไม่ขอ ตรงนี้ผมจะทำรายละเอียดเข้ามานำเสนอในภายหลัง” ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบ นายจุรินทร์ ว่า“หากเรื่องไหนจำเป็นก็ให้ทำรายละเอียดของเรื่องเข้ามา ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ต้องใช้ เพราะเราต้องดูแลประชาชนให้ดีที่สุด”
นอกจากนี้ ระหว่างการพิจารณาวาระของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ขออนุมัติงบกลาง 570 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดในสุกร พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความเห็นว่า ก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ได้มีการของบประมาณเรื่อยมาตั้งแต่ปี 63 ขอมา 2-3 รอบแล้ว แสดงว่าเรามีการดำเนินการอยู่ เรารู้อยู่ว่าเกิดโรคระบาดขึ้น ดังนั้น ขอให้เร่งแก้ปัญหาทั้งระบบโดยเร็ว ปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนให้แก้ไขปัญหาตรงนั้น หมูแพงเกิดจากอะไร ถ้าเป็นเพราะต้นทุนก็แก้ต้นทุน ถ้าเกิดจากโรคระบาดก็ต้องรีบแก้ไขปัญหา และขอให้ระมัดระวังเรื่องการโดนระงับการส่งออก 5 ปี ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ดูแลเป็นพิเศษ
“มีหลายคนบอกผมว่าให้ย้ายอธิบดีปศุสัตว์ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย ให้เขาชี้แจงแถลงข่าวให้ประชาชนรู้ด้วย และขอให้รัฐมนตรีไปกำชับปลัดกระทรวงและอธิบดีด้วยว่า ใครรับผิดชอบอะไรก็ขอให้ดูด้วย เพราะมีผลต่อตำแหน่งทั้งปัจจุบันและอนาคต แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา”นายกฯระบุ
ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สรุปเรื่องโรคระบาดในหมูตลอด 3ปีที่ผ่านมา และจะแถลงโดยเร็วที่สุด รวมถึงกำลังพิจารณาเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศจะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะต้องระวังจะกระทบกับผู้ค้ารายย่อย แต่ถ้าทำได้จะช่วยในเรื่องราคาเนื้อหมูได้ อย่างไรก็ตาม มีข่าวดี เนื่องจากที่ผ่านมาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังไม่เคยมีวัคซีนออกมา ไม่มีใครผลิตได้เป็นร้อยๆ ปี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพัฒนา และน่าจะผลิตได้เป็นที่แรกในโลก หากเรื่องนี้ประสบความสำเร็จจะถือเป็นเรื่องที่ดี
ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยจากสถานการณ์ราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นว่า ส่วนหนึ่งมาจากผู้เลี้ยงรายย่อยหยุดเลี้ยงหมูไปก่อนหน้านี้ ทำให้สุกรหายไปจากตลาดประมาณ 30กว่า%และราคาอาหารสัตว์ก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่า7% ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น ซึ่งกรมการค้าภายในได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการจัดโครงการขายหมูราคาถูก โดยขายหมูเนื้อแดงราคา 150บาทต่อกิโลกรัม และจะขยายระยะเวลาการจำหน่ายไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ พร้อมของบกลางจากคณะรัฐมนตรี เพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้นจาก 662จุด เพิ่มขึ้นอีก 1,500จุดเร็วๆนี้
ส่วนเรื่องสถานการณ์ราคาไก่นั้น ได้หารือกับผู้ประกอบการ มีมติร่วมกันในการกำหนดราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลาหกเดือน ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยกำหนดราคาขายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม อยู่ที่ 33.50 ต่อกิโลกรัม ,ไก่สด รวมและไม่รวมเครื่องใน ราคา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม , น่องติดสะโพก น่อง และสะโพก ราคา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม และเนื้ออก ราคา 65-70 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมกับประสานให้กรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยงเร่งเพิ่มผลผลิตภายใน 45 วัน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ช่วงนี้ ยังไม่เหมาะที่จะปรับราคาไข่ไก่ จึงจำเป็นต้องพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือประชาชน