“คนไร้บ้าน (Homeless)” เป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับเมืองใหญ่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ เริ่มมีแนวคิดว่าคงไม่สามารถทำให้คนไร้บ้านหมดไปจากสังคมได้ ดังนั้นจึงเปลี่ยนไปสู่การทำให้ภาวะไร้บ้านของคนคนหนึ่งสั้นที่สุด เนื่องจากมีผลการศึกษาพบว่า ยิ่งเป็นคนไร้บ้านนานเท่าใดโอกาสที่จะกลับคืนสู่การใช้ชีวิตอย่างคนปกติอื่นๆ ในสังคมก็ยิ่งริบหรี่ลง จึงมีความพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านตามบริบทของแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ร่างกายและสติปัญญาปกติสามารถช่วยเหลือตนเองได้กลุ่มผู้พิการทางกาย กลุ่มที่ใช้สารเสพติด กลุ่มที่มีอาการจิตเวช ฯลฯ
สำหรับประเทศไทย นอกจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่พบคนไร้บ้านได้ทั่วไปแล้ว ตามหัวเมืองใหญ่ๆ หรือจังหวัดชั้นนำในแต่ละภาคก็มีปัญหาคนไร้บ้านเช่นกัน ดังเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดเวทีเสวนา “ส่งเสียง-เสวนา-สนทนา-สาธารณะ : หัวข้อ Voice From The Bottom : เสียงจากคนข้างล่าง สู่ความท้าทายเพื่อสร้างระบบดูเเลกันทางสังคมที่มองเห็นคนทุกคน” ในรูปแบบผสมผสาน ระหว่างการจัดประชุมที่ รร.กรีนโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ขอนแก่น ถ.ประชาสโมสร อ.เมือง จ.ขอนแก่น พร้อมกับการประชุมทางออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom
นงเยาว์ กงภูเวศน์ อาสาสมัครชุมชนเมืองขอนเเก่น บอกเล่าถึงจากการทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆใน จ.ขอนแก่น ซึ่งพบว่า “ผู้ที่ติดสุราและยาเสพติด” เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะทำให้คนในครอบครัวไม่ยอมรับ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะหลุดออกจากการช่วยเหลือแม้จะมีหน่วยงานภาครัฐพยายามยื่นมือเข้าไปก็ตามฅแต่ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ดูแลกลุ่มเปราะบางที่เข้าไปดูแล ทำให้ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่เพราะมีความกังวลในการโดนทำร้ายเช่นกัน
“สิ่งที่ได้จากการทำงานคือได้เห็นอาสาสมัครหน้าใหม่ ที่เกิดจากคนในชุมชนว่างงาน จึงชวนมาร่วมงานด้วยเพื่อช่วยดูแลชุมชนที่ตนเองอาศัย แต่ความเปราะบางของชุมชนในขอนแก่นที่มีความเสี่ยงกลายเป็นคนไร้บ้าน คือชุมชนมิตรภาพ เนื่องจากพื้นที่ชุมชนอยู่ในเขตก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และไม่ได้อยู่เครือข่ายองค์กรที่สามารถเช่าพื้นที่ได้” นงเยาว์ กล่าว
ขณะที่ ปุณพจน์ เขม้นเขตการ นักพัฒนาสังคมชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) จ.ขอนเเก่น กล่าวว่า การช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านหรือกลุ่นคนเปราะบางในจังหวัดขอนแก่น จะเป็นการทำงานช่วยเหลือตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตเช่น 1.มีการสนับสนุนการดูแลแม่ตั้งครรภ์และแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ตั้งครรภ์อยู่ 2.เด็กที่มีครอบครัวยากจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้จะมีเงินดูแลบุตรเดือนละ 600 บาท 3.มีกองทุนเด็กและเยาวชน ในการดูแลเด็กที่ครอบครัวยากจนหรือคนที่ไร้ที่พึ่ง 4.มีกองทุนสวัสดิการสังคม ในการดูแลผู้หญิง เด็ก และบุคคลทั่วไป
5.มีกองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อกู้ยืมมาประกอบอาชีพ และซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้มั่นคง และ 6.มีกองทุนคนพิการ เป็นกองทุนที่ดีแลเรื่องของการกู้ยืมสงเคราะห์ และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ถ้าหากเสียชีวิตมีเงินจัดทำศพด้วย จึงเห็นได้ว่า จังหวัดขอนแก่นมีหน่วยงานดูแลในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลครบทุกหน่วยงานที่ดูแลทุกกลุ่มเป้าหมาย
“เรื่องเด็กมี 3 หน่วยงานที่ดูแล ได้แก่ บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นสถานรองรับครอบครัวและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงและถูกทอดทิ้ง ซึ่งสามารถดูแลเป็นการชั่วคราวได้ แต่ถ้าเป็นเด็กอ่อนและเด็กที่ครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ ทาง บ้านแคนทองก็สามารถดูแลได้จนถึงอายุ 6 ปีหลังจากนั้นจะส่งต่อให้หน่วยงานในจังหวัดอุดรธานี และยังมี สถานคุ้มครองเด็กชาย ที่อำเภออุบลรัตน์อีกด้วย นอกจากนี้มีหน่วยงานในการฝึกอาชีพ เช่น ศูนย์รัตนาภา เป็นต้น และมีหน่วยงานที่ดูแลคนพิการ 3 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์ออทิสติกที่บึงทุ่งท่า และศูนย์ฝึกอาชีพที่อำเภออุบลรัตน์” ปุณพจน์ ระบุ
ด้าน พูลสมบัติ นามหล้า สถาบันชุมชนอีสาน กล่าวว่า กลุ่มเปราะบางในจังหวัดขอนแก่นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะไม่มีที่อยู่อาศัย เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้ไม่ทราบว่าวันไหนจะถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัยที่เกิดจากนโยบายของรัฐ นอกจากนี้ข้อมูลของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน ยังพบอีกว่า นอกจากคนไร้บ้านที่เดือดร้อนในเรื่องของการเข้าไม่ถึงสวัสดิการจากรัฐแต่กลุ่มเปราะบางก็มีความเสี่ยงเช่นกันจึงได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนเรียนรู้ปัญหาด้วยตนเอง โดยการตั้งคำถามในการสืบค้นหากลุ่มเปราะบาง สืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชน และสืบค้นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดเครื่องมือการวิจัยการมีส่วนร่วม
“มี 3 เครื่องมือ ได้แก่ 1.Timeline คือประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่งจะทำให้รู้ว่าชุมชนต่างๆ มีประวัติศาสตร์การร่วมต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิที่จะอาศัยในชุมชน 2.Mapping หรือแผนผังกลุ่มเปราะบางในชุมชน โดยจะเน้นที่ครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งจะเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายไม่จำเป็นต้องรู้หนังสือเยอะ และ 3.อาชีพซึ่งชุมชนที่อยู่ในเมืองจะสนใจเรื่องโอกาสในการทำมาหากิน จึงได้ใช้ปฏิทินอาชีพ ซึ่งจะบอกว่ามีอาชีพอะไรบ้างที่อยู่ในชุมชน และคนในชุมชนทำได้ดีที่สุด ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ชิ้นนี้ นอกจากค้นหากลุ่มเปราะบางในชุมชนแล้ว แต่ค้นหาไปถึงเรื่องของศักยภาพที่จะนำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง” พูลสมบัติ กล่าว
ปิดท้ายด้วย สุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภาคอีสาน กล่าวว่า การดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนจนเมือง จำเป็นต้องมุ่งเน้นในการสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการสร้างเครือข่ายของคนในชุมชน โดยการใช้เครื่องมือการสร้างความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดิน นอกจากนี้มีเครื่องมือที่ใช้ในการส่งเสริมเรื่องของสวัสดิการชุมชน ซึ่งจะไปโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกด้วย
โดยเมื่อพูดถึงคนไร้บ้านภารกิจของ พอช. ได้พยายามเชื่อมโยงการทำงานผ่านทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สมาคมคนไร้บ้าน และกลุ่มเพื่อนเครือข่ายคนไร้บ้าน เพื่อเสนอโครงการที่จะให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์คนไร้บ้าน จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินแล้วแล้วถึง 5 ศูนย์ทั้งในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น นอกจากนี้ “กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่” จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก ที่เป็นลักษณะของกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่
“ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่จะได้รับผลกระทบเร็วๆ นี้ คือ ชุมชนที่อยู่ริมทางรถไฟ ที่มีอยู่ 11 ชุมชน เพราะฉะนั้นระบบการคุ้มครองทางสังคมที่จะเป็นแนวทางใหญ่ คือ การสร้างระบบของชุมชน และมีการโยงสร้างระบบเครือข่ายให้เข้มแข็ง เพราะชาวบ้านริมทางรถไฟในขอนแก่นจะต้องอาศัยพลังเครือข่ายในการผลักดัน” ผอ.พอช.อีสาน กล่าว
อนึ่ง ภายในงานยังมีการนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการป้องกันกลุ่มเสี่ยงไร้บ้านในชุมชนเปราะบาง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” โดย อนุวัฒน์ พลทิพย์ อาจารย์สาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม และ ผศ.ดร.ภก.วิบูลย์ วัฒนนามกุล อดีตอาจารย์สาขาวิชาเภสัชศาสตรสังคมและการบริหารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายคนไร้บ้าน และพัฒนารูปแบบการจัดการศูนย์พักคนไร้บ้านเพื่อการพึ่งตนเองจังหวัดขอนแก่น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี