สธ.เตือนประชาชนเฝ้าระวัง
‘โรคฝีดาษลิง’
ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ
แต่วัคซีนไข้ทรพิษคุมได้
หลายปท.พบติดเชื้อแล้ว
กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน เฝ้าระวังโรค ฝีดาษลิง ติดจากสัตว์สู่คน-คนสู่คนได้ ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาแบบเฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษขณะที่ ออสเตรเลีย สวีเดน ยืนยัน พบผู้ป่วยรายแรก หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว หลายประเทศอาทิ อังกฤษ โปรตุเกส อิตาลี สเปน แคนาดาและสหรัฐพบผู้ป่วยรายแรกไปแล้ว
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คนนั้น โรคฝีดาษลิง ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้
คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย
การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%
วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษคุมระบาดได้
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้นมีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ
แนะนำวิธีป้องกันตนเอง
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า 2) หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 3) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า 4) ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค 5) กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
หลายปท.เพิ่งพบเมื่อสัปดาห์ก่อน
ทั้งนี้เมื่อช่วงหลายสัปดาห์มานี้มีหลายประเทศที่ไม่เคยพบโรคฝีดาษวานรมาก่อนแจ้งว่าพบผู้ป่วยเป็นครั้งแรก เช่น อังกฤษ อิตาลี โปรตุเกส สเปน แคนาดา สหรัฐ ทั้งที่โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง เกิดจากเชื้อไวรัสคล้ายกับโรคฝีดาษคน แต่มีอาการน้อยกว่า โดยพบผู้ป่วยครั้งแรก ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 และพบผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตกมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นที่หน้าแล้วลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
ออสเตรเลียพบผู้ป่วยรายแรก
สำนักงานสาธารณสุขรัฐวิกตอเรีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย แถลงว่า ชายวัย 30 ปีเศษที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ เดินทางจากอังกฤษกลับมาถึงนครเมลเบิร์น เมื่อวันจันทร์ ส่วนชายวัย 40 ปีเศษในนครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ทางตะวันออกของออสเตรเลีย เป็นผู้ต้องสงสัยติดเชื้อและเพิ่งเดินทางกลับมาจากยุโรป ชายทั้งสองคนมีอาการเล็กน้อยเมื่อเดินทางกลับมา เป็นอาการที่สอดคล้องกับโรคฝีดาษวานร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ให้ความมั่นใจกับชุมชนว่า โรคนี้ไม่ได้แพร่เชื้อแบบเดียวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 หรือโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการเพื่อค้นหาและดูแลผู้ป่วยที่อาจมีเพิ่มเติมแล้ว ด้วยการแจ้งให้แพทย์และโรงพยาบาลเพิ่มการเฝ้าระวัง
สธ.สวีเดนเรียกร้องรบ.แจ้งอันตราย
สำนักงานสาธารณสุขของสวีเดน ยืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง รายแรกของประเทศ โดยฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่พบได้ยาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และสำนักงานสาธารณสุขของสวีเดนได้เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศว่า โรคนี้เป็นอันตรายต่อสังคม เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การติดตามผู้สัมผัสติดต่อ และการกักกันโรค
คลาร่า ซอนเดน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ และผู้สอบสวนโรคประจำสำนักงานสาธารณสุขสวีเดนแถลงต่อสื่อมวลชนว่า นี่เป็นโรคที่ไม่ปกติอย่างมาก ขณะนี้หน่วยงานกำลังสอบสวนโรคร่วมกับหน่วยควบคุมการแพร่ระบาดระดับภูมิภาค หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสวีเดน บุคคลในสวีเดนที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสนี้ มีอาการไม่รุนแรง และได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างเต็มที่ เรายังไม่ทราบว่าบุคคลนั้นติดเชื้อมาจากที่ใด ทางการกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน
อังกฤษฉีดวัคซีนบุคลากรการแพทย์
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานความปลอดภัยสุขภาพของสหราชอาณาจักร (ยูเคเอชเอสเอ ) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ว่าจนถึงตอนนี้มีการยืนยันผู้ป่วยสะสมอย่างน้อย 9 คน ในเดือนนี้ ทุกคนติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็น 1 ใน 2 สายพันธุ์ของโรคนี้ โดยอีกสายพันธุ์ คือสายพันธุ์คองโก มีอัตราการเสียชีวิต 10% ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1%
อิตาลีพบติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรก
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อิตาลีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง รายแรกของประเทศ ซึ่งมีประวัติเดินทางเยือนหมู่เกาะคานารีของสเปน รายงานระบุว่าผู้ป่วยรายนี้กำลังอยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลสปาล์ลันซานี ในกรุงโรม ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลด้านโรคติดเชื้อชั้นนำของประเทศ โดยโรงพยาบาลกำลังเฝ้าติดตามผู้ป่วยที่มีแนวโน้มติดเชื้อไวรัสฯ ดังกล่าวอีก 2 ราย
สถาบันสุขภาพแห่งชาติอิตาลี (ISS) ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะกระทรวงสาธารณสุขอิตาลีเรียกร้องให้ภูมิภาคต่างๆ เฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสฯ ตามโรงพยาบาลท้องถิ่น
เปรูประกาศเฝ้าระวัง
ฮอร์เก โลเปซ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเปรู เผยว่ารัฐบาลเปรูได้ประกาศการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข เมื่อวันพฤหัสบดี ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในบางประเทศ แม้เปรูจะยังไม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในท้องถิ่นก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในเปรู ทว่าคำประกาศข้างต้นมีขึ้นเพื่อป้องกันการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมาตรการนี้กำหนดให้สถาบันสุขภาพแห่งชาติของเปรู กับศูนย์ระบาดวิทยา การป้องกัน และการควบคุมโรคแห่งชาติ ดำเนินงานดูแลและสังเกตการณ์ประชากรในประเทศ โดยขณะนี้กระทรวงฯ กำลังประเมินความเป็นไปได้ในการจัดซื้อวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าวแก่ชาวเปรูด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี