วันที่ 10 ส.ค.65 นายสมเชาว์ ชโลธร ประธานกรรมการสหกรณ์ นิคมทับเสลา นายจิตติ เจียมเจือจันทร์ ผู้จัดสหกรณ์นิคมทับเสลา อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ได้เรียกประชุมชาวบ้านที่ทำกินในเขตพื้นที่ของสหกรณ์นิคมทับเสลา ในพื้นที่ 55,000 ไร่ ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่ ต.ทุ่งนางาม 12 หมู่ และ ต.ป่าอ้อ อ.ลานสัก กว่า 700 รายมาลงความเห็นว่าจะให้คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.) เข้ามาดำเนินงานจัดสรรที่ดินทำกินให้เหลือรายละ 20 ไร่หรือจะอยู่คงเดิมโดยให้สหกรณ์นิคมดำเนินงาน โดยนายจิตติ เจียมเจือจันทร์ ผู้จัดสหกรณ์ให้ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 700 คนลงความเห็น โดยให้ทุกคนยกมือเพื่อบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน แต่ชาวบ้านกว่า 700 คนไม่ยกมือพร้อมกับยืนถือป้ายคัดค้าน ไม่อยากอยู่ ไม่เอา คทช. และไม่ยกมือให้ คทช.เข้ามาดำเนินงาน หลังจากนั้นได้ถามว่า ชาวบ้านท่านใดที่อยากให้ที่ดินอยู่กับสหกรณ์ให้ยกมือ ซึ่งชาวบ้านกว่า 700 ต่างยกมือกันหมด พร้อมกับกล่าวขอคัดค้าน คทช.ตลอดที่เข้ามาดำเนินงาน
ทั้งนี้ นายประดิษฐ์ สวนเส็ง ชาวบ้านหมู่ 12 ต.ทุ่งนางาน และนางนันท์นภัส กระนัย ชาวบ้านหมู่ 8 ต.ทุ่งงาม อ.ลานสัก ได้ร่วมกันเปิดเผยถึงความรู้สึกของชาวบ้านที่ คทช. จะเข้ามาดำเนินงานจัดสรรที่ดินทำกินว่า สืบเนื่องจากนโยบายโดยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมโดยจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชนของการจัดที่ดินทำกิน ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งรัดดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
การดำเนินการเริ่มตั้งแต่การกำหนดพื้นที่เป้าหมายสำหรับการจัดที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยให้กับชุมชน รวมถึงให้ความเห็นชอบการตรวจสอบขอบเขตที่ดินตามที่คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด หรือ คทช. จังหวัดได้ดำเนินการตรวจสอบตามพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด เป็นธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม เพื่อให้การแก้ไขปัญหา ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ต.ค.2557 จึงเห็นชอบตามที่ ทส.ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดแรกเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งต่อมาได้ออกเป็น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศไทย การดำเนินงานของ คทช.มุ่งเน้นการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนเป็นหลักในลักษณะแปลงรวม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่ม หรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช.กำหนดในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม โดยราษฎรแต่ละรายสามารถถือครองที่ดินได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกินรายละ 20 ไร่
โดยพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3.9 ล้านไร่ คทช.จังหวัด ได้เสนอเป้าหมายให้คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้ว 2.3 ล้านไร่ ซึ่งทางจังหวัดจะต้องยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้มีการให้ความเห็นชอบไปแล้วกว่า 1.9 ล้านไร่ และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการอีกประมาณ 2 ล้านไร่เพื่อให้สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรในลักษณะ แปลงใหญ่ทั้ง 64 จังหวัด ได้ทันภายในปี 2564
สำหรับในส่วนของพื้นที่ที่ได้มีการเห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเรียบร้อยแล้วในช่วงปี 2558-2564 ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ชุมชนเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยไปแล้วกว่า 280 พื้นที่ 66 จังหวัด เนื้อที่กว่า 750,000 ไร่