ผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ “นยปส.” รุ่นที่ 13 จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก”อันเป็นหลักสูตรที่จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงาน ระบุว่า ปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐพบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับนโยบาย มีมูลค่าความเสียหาย ในปี 2554 ถึง 9 พันล้านบาท จึงเป็นที่มาของการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การบริหารจัดการที่โปร่งใส เพื่อกรุงเทพที่ดี” โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้ข้อคิดว่า ทุกอย่างอยู่ที่ความมั่นใจ และเชื่อมั่น ซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่ดี ทำหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อให้เกิดความสำเร็จ จึงจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน โดยผู้บริหารต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่าง และทำตามนโยบายที่เคยพูดไว้
รวมทั้งสร้างความสมดุลของข้อมูลในการตรวจสอบ ด้วยระบบข้อมูล (Data) ให้ประชาชนสามารถติดตามการใช้งบประมาณและโครงการต่างๆ รวมทั้งแก้ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนแจ้งเข้ามา ล่าสุดมีเรื่องร้องเรียน 128,000 เรื่อง ได้ดำเนินการ แก้ไขไปแล้วกว่า 6 หมื่นเรื่อง ที่เหลืออยู่นอกเหนืออำนาจต้องส่งต่อเชื่อมโยงการทำงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามระบบการทำงานที่โปร่งใส เป็นประชาธิปไตย
จากนั้น นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดอุทัยธานี ในฐานะประธานนักศึกษาหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 13 ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นวัตกรรมทางความคิดเพื่อแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง” กล่าวว่าการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีหลายรูปแบบ และพัฒนาการทุจริต ตั้งแต่การขออนุญาต การออกแบบโครงการรับเหมา การประมูล จึงต้องดูว่าโครงการที่ตั้งขึ้นมามีความเป็นธรรมหรือไม่และประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ การออกแบบราคากลาง ที่จะแก้ปัญหาการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงควบคุมการล็อกสเปก เพื่อลดปัญหาการฮั้วประมูล ป.ป.ช. จึงต้องสร้างเครือข่ายให้ทุกคนไม่ทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของภาครัฐ
สำหรับงานสัมมนาสาธารณะ เรื่อง ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการยุทธศาสตร์ประจำรุ่นของนักศึกษาหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 13 โดยมีตัวแทนนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย น.ส.ศุภพรรัตน์ สุขพุ่ม รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, นายอภิศักดิ์ธนเศรษฐกร กรรมการบริหาร บริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด,รศ.ดร.ศรีจิตรา เจริญลาภนพรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, น.ส.อลินี ธนะวัฒน์สัจจะเสรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงาน ก.พ. และ น.ส.รุ่งรัตนา เจริญจิตต์นักวิชาการประจำองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
โดยยุทธศาสตร์รุ่นใช้เวลาในการจัดทำ 5 เดือน “ที่มาและความสำคัญของปัญหา” เกิดจากคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของประเทศไทยยังอยู่ในอันดับคงที่ สะท้อนภาพลักษณ์เชิงลบอันเกิดจากความเสียหายของการทุจริต รัฐใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนมหาศาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของทุกปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในชาติ และความเสียหายจากการทุจริตนั้นประเมินค่าไม่ได้
“วัตถุประสงค์ของการจัดทำยุทธศาสตร์” จึงมีเป้าหมายเพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 ศึกษาแนวทางการป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และเพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
“ขอบเขตการศึกษา” มีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย แบ่งเป็น 5 ตอน ได้แก่ 1.นโยบาย คำสั่งยุทธศาสตร์ แผน กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต 2. ทฤษฎีการทุจริตคอร์รัปชั่น 3.แนวคิดพื้นฐานการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น 4.งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 5.กรอบแนวคิดในการศึกษา ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาและนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
ตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 13 นำเสนอผลงานวิชาการยุทธศาสตร์ประจำรุ่น
“ผลการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน” วิเคราะห์ผลออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ผลการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งเป็น ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดความต้องการแบบ inside-out,ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน,ผู้กำหนดไม่มีความรู้ทางเทคนิค, ขาดการบูรณาการงบประมาณภาพรวม, ระบบการจัดซื้อจัดจ้างปัจจุบันยังไม่มีการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน, หลักการอาจขัดกัน
กลางน้ำ ได้แก่ TORs ที่ล็อกสเปกกำหนดการใช้ดุลยพินิจ, เกณฑ์ PricePerformance, ยังไม่มีการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อช่วยการคัดเลือกผู้เสนอราคา,ปัญหาในระบบ e-GP ไม่สอดคล้องกับระเบียบ, การยื่นอุทธรณ์ในขั้นตอนตัดสินว่าใครคือผู้ได้รับงาน กลายเป็นปัญหาดาบสองคม, ช่องโหว่ของระบบ e-bidding ผู้ที่มีเจตนาทุจริตก็หาช่องทางได้
และ ปลายน้ำ ได้แก่ การทุจริตที่พบบ่อย คือ ในรูปของเงินค่ารับรองค่าเดินทางตรวจงาน เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ตลอดจนเงินพิเศษ, ปัญหาของการใช้ดุลยพินิจในการงดค่าปรับ การใช้ดุลยพินิจในการขยายเวลาของสัญญา โดยไม่มีเหตุผลสมควร, มุมของผู้ประกอบการภาคเอกชน เห็นว่า กลไกคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น ในทางปฏิบัติอาจทำให้เกิดการใช้ดุลยพินิจที่แตกต่าง อาจเป็นช่องทางการรับสินบน, คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่มีองค์ความรู้ในเนื้องาน, สถานการณ์โควิด ที่ส่งผลให้มีการปรับลดค่าปรับเหลือ 0 ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่เร่งรัดงาน ล่าช้า ทิ้งงาน
“ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์” แบ่งเป็นแผน 3 ระดับ ได้แก่ 1.แผนระดับยุทธศาสตร์ชาติ 2.แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนด้านต่างๆ และ แผนระดับ 3.คือ แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 โดยแนวทางที่ 1 ปลูกฝังวิธีคิดปลุกจิตสำนึกให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต แนวทางที่ 2 ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ แนวทางที่ 3 ปราบปรามการทุจริต เป็นต้น
“บทสรุปข้อเสนอยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561” มี5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย “ยุทธศาสตร์ที่ 1”พัฒนาระบบ เทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงข้อมูลในการป้องกันการทุจริตเชิงรุก แบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัล(Artificial Intelligence + Blockchains) มาใช้ในการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้างทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
2.พัฒนาระบบ Data Center เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ การจัดทำข้อกำหนดงานซื้องานจ้าง (TORs) การตรวจรับงานซื้องานจ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างลักษณะงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง ข้อมูลทางเทคนิค และ 3.พัฒนา Data Center การจัดซื้อจัดจ้าง และมีข้อมูล Data Analytics เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้
“ยุทธศาสตร์ที่ 2” ยกระดับการสร้างความโปร่งใสเชิงนโยบาย แบ่งออกเป็น 7 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.กำหนดให้หน่วยงานเปิดเผยงบประมาณและข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การจัดซื้อจัดจ้าง 2.พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสร้าง Platform ที่ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงได้ง่ายเพื่อเป็นช่องทางติดตาม ตรวจสอบ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ 3.การจัดตั้งศูนย์การจัดซื้อจัดจ้างกรณีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/พัสดุ ที่มีลักษณะเชิงเทคนิค เช่น การก่อสร้าง การพัฒนาระบบดิจิทัล เป็นต้น
4.สร้างผู้นำที่มีจริยธรรม เพื่อเป็นต้นแบบการปฏิบัติงาน ด้วยหลักคุณธรรมและความโปร่งใส 5.ส่งเสริมให้มีการนำแนวคิดของข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ในทางปฏิบัติให้กว้างขวางมากขึ้น เช่น รัฐวิสาหกิจ 6.ปรับปรุงกฎระเบียบให้เกิดความโปร่งใสและลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากช่องว่างของกฎหมาย และ 7.ส่งเสริมการใช้กลไกธรรมาภิบาลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
“ยุทธศาสตร์ที่ 3” สร้างนวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบ่งออกเป็น 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.กำหนดให้มีการลงทะเบียน Part Number ของครุภัณฑ์และเผยแพร่ผ่านระบบ Cloud รวมทั้งมีการ Update ราคาครุภัณฑ์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคมสามารถตรวจสอบงบประมาณของแต่ละโครงการ ว่ามีความสมเหตุสมผลเพียงใด 2.มีกลไกคณะกรรมการพิจารณาตัดสินในกรณีหลักการขัดแย้ง และข้อกฎหมายลงโทษผู้ร้อง ที่ร้องโดยไม่มีมูล หรือพิสูจน์ได้ว่าเจตนากลั่นแกล้ง
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส. จังหวัดอุทัยธานี ในฐานะประธานนักศึกษาหลักสูตร นยปส. รุ่นที่ 13 ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นวัตกรรมทางความคิดเพื่อแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง”
3.ปรับกระบวนการจัดทำคำของบประมาณสำหรับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการงบประมาณ และไม่เกิดความซ้ำซ้อน 4.ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (ArtificialIntelligence + Blockchains) เพื่อการจับคู่ข้อมูลความต้องการกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว โปร่งใส และ 5.เพิ่มช่องทางการแจ้งเบาะแส กรณีพบเห็นความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง
“ยุทธศาสตร์ที่ 4” สร้างการตระหนักรู้ของประชาชน ในการเป็นกลไกตรวจสอบการทุจริต แบ่งเป็น 2 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นเครือข่ายในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2.จัดอบรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อความเข้าใจกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง และความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันสมัย
และ “ยุทธศาสตร์ที่ 5” สร้างภูมิคุ้มกันสังคมให้เข้มแข็ง แบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐจากภาคประชาสังคม 2.เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรภาครัฐ ในการเป็นองค์กรคุณธรรมและความโปร่งใส และการมีวัฒนธรรมสุจริต ผ่าน Soft power 3.ส่งเสริมบทบาทของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เช่น การจัดทำสกู๊ปติดตามงานจัดซื้อจัดจ้าง
“ข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเชิงรุก ต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน” สรุปได้ดังนี้ 1.ข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐ แบ่งออกเป็น 1.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาระบบเทคโนโลยี ดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการเผยแพร่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้,/ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ เน้นการซื่อสัตย์ สุจริตควบคู่กับผู้นำมีจริยธรรม ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส /,
ปรับปรุงกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ลดช่องว่างของกฎหมาย /และมีกลไกคณะกรรมการพิจารณาตัดสินในกรณีหลักการขัดแย้ง และข้อกฎหมายลงโทษผู้ร้องไม่มีมูล เจตนากลั่นแกล้ง กับ 1.2 ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ ได้แก่นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารการจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบ ครบ ตลอดเส้นทางน้ำ, จัดตั้งศูนย์การจัดซื้อจัดจ้างกรณีที่เป็นการสินค้า หรือ พัสดุ เชิงเทคนิค,
พัฒนาระบบ Data Center เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง , พัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสร้าง Platform ให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงได้ง่าย ในการติดตาม ตรวจสอบ, กำหนดให้มีการลงทะเบียน Part Number ของครุภัณฑ์ และเผยแพร่ผ่านระบบคลาวน์ เพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคมตรวจสอบความ
สมเหตุสมผลของงบประมาณโครงการ,กำหนดพื้นที่นำร่องในการติดตาม เฝ้าระวังกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างใกล้ชิด /และเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะการประกาศผลผู้ชนะ
2.ข้อเสนอแนะสำหรับภาคเอกชน ในส่วนของภาคเอกชน ควรดำเนินการจัดทำสัญญาคุณธรรม / ข้อตกลงคุณธรรม ตามมาตรการส่งเสริมความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ภายใต้กระบวนการที่กำหนดตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนให้ความร่วมมือ ป้องกันและต่อต้านการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง
และ 3.ข้อเสนอแนะสำหรับภาคประชาชน ประชาชนควรให้ความสำคัญกับการเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ในทุกขั้นตอน ผ่านเว็บไซต์ เนื่องจากในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐบางหน่วยยังไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างต่อสาธารณะ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / ภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ
“ข้อเสนอแนะเหล่านี้ เป็นเป้าหมายทั้งหมดในกระบวนการที่ออกมาเป็นยุทธศาสตร์แก้ปัญหาในกระบวนการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” จะเห็นได้ชัดว่า “ในทุกกระบวนการ สิ่งที่สำคัญที่สุด จะต้องมีสิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือ คน” ทั้งนี้ “หลังการนำเสนอ...จะเป็นการวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะผลงานวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ” ประกอบด้วย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย,น.ส.ลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ, นายสมโภชน์ โตรักษา ผู้จัดการฝ่ายข่าวบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ โดยมี น.ส.อรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยต่างมีความเห็นสอดคล้องกันกับการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนเข้าถึง และตรวจสอบได้ให้มากที่สุด ระบบ Data เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งหากมีข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านครบถ้วน ก็จะสามารถถอดรหัส ของสาเหตุการทุจริตในแต่ละโครงการว่าเกิดจากอะไร และ ป.ป.ช. น่าจะถอดรหัสคดีแดงออกมาได้ อีกทั้งต้องปรับแผนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ และควรมีการตรวจสอบโครงการ ทั้งก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ไปจนถึงหลังเสร็จสิ้นโครงการแล้วว่า ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนหรือไม่
ขณะที่สัญญาการจัดซื้อจัดจ้างที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนด จะต้องเป็นสัญญาที่เป็นธรรมทั้งกับภาครัฐและผู้ประกอบการ ไม่มีการล็อกสเปก!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี