ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พอใจต่อรายงานการส่งออกข้าวของไทย6 เดือนแรกของปีนี้ สามารถส่งออกข้าวทุกชนิด ได้แก่ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ มีปริมาณ 3,507,020 ตัน คิดเป็นมูลค่า 60,932.3 ล้านบาท(1,837.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 56.6% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 42.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 2,239,432 ตัน มูลค่า 42,641.8 ล้านบาท (1,407.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2565 มีปริมาณการส่งออกสูงถึง 764,131 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13,129.5 ล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น 69.4% และ 57.1% ตามลำดับ สำหรับข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 140,225 ตัน ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ103,865 ตัน
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ไทยมีโอกาสสูงที่จะส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก หากส่งออกได้เกิน 7 ล้านตัน เมื่อพิจารณาข้อมูลการส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งปีแรก และรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าในรอบการผลิตปี 2564–2565 ปริมาณผลผลิตข้าวของโลกอาจอยู่ที่ประมาณ 505.4 ล้านตัน สูงขึ้นจากรอบปีก่อนหน้า1.9 ล้านตัน ขณะที่ในปี 2565 ปริมาณการค้าข้าวของโลกอาจสูงถึง 46.4 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2564 ประมาณ 100,000 ตัน โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกข้าวเพิ่ม คือ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา สหภาพยุโรป ปารากวัย ไทย และอุรุกวัย
“คาดว่าเราจะส่งออกข้าวทั้งปีได้ไม่น้อยกว่า 7-7.5 ล้านตัน สูงกว่าปี 2564 และมีลุ้นที่จะแซงเวียดนามขึ้นแท่นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกได้ในปีนี้ โดยดูจากสถิติการส่งออกข้าวของเวียดนาม 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม–พฤษภาคม) ส่งออกข้าวปริมาณ 2.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีปริมาณการส่งออกข้าว 2.59 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 โดยมีมูลค่าส่งออก 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าส่งออก 1.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 4.26 เฉลี่ยเวียดนามส่งออกเดือนละ 5 แสนตัน” นายอลงกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังหากรักษาระดับการส่งออกเกิน 6 แสนตันต่อเดือน ก็จะทำให้การส่งออกทั้งปีเกิน 7 ล้านตัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท ผลผลิตของประเทศผู้ส่งออกหลัก และราคาส่งออกของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ นับเป็นความก้าวหน้าทางนโยบายข้าวที่มุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ การใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตรใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตตลอดจนการยกระดับข้าวแปลงใหญ่ ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19