เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้จัดพิธีเปิด “ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ Thammasat AI Centerโดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DES) พร้อมด้วย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บริหาร เยี่ยมชมบรรยากาศการเรียนการสอน AI ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
โดยนายชัยวุฒิ กล่าวในการเป็นประธานเปิดศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งส่งเสริมองค์กรต่างๆ ในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ การพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สอดคล้องทันกับสถานการณ์ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ซึ่งศูนย์ Thammasat AI Center แห่งนี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ทั้งนี้ มุ่งหวังว่า เป็นแหล่งศึกษา เพื่อเรียนรู้และพัฒนาการวิจัยด้าน AI ร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ยกระดับศักยภาพและกระตุ้นการคิดค้นต่อยอดนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศชุมชนใช้ AI เป็นเครื่องมือดำเนินธุรกิจ คาดว่ามูลค่าการตลาด AI ทั่วโลกจะสูงกว่า 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 565 ล้านล้านบาทในปี 2030 เพิ่มมูลค่าถึง 26% นำไปสู่โอกาสพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต
ด้าน รศ.เกศินี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการขับเคลื่อนโครงการใหม่ๆ พัฒนานวัตกรรม ความรู้ และทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจัดตั้ง Thammasat AI Center มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ให้โดดเด่น พร้อมยกระดับสู่ความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ รองรับการเปลี่ยนผ่านที่ท้าทายของประเทศไทยต้องก้าวสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต
“ปัจจุบัน นอกจาก Thammasat AI Center แล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ 3 โครงการได้แก่ 1. โครงการ Medical Valley ต้นแบบศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา 2. โครงการ 88 sandbox ศูนย์การเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการแห่งอนาคต 3. โครงการ TU Metaverse ที่จะสร้าง campus ที่ 5 ใน Metaverse พร้อมหลักสูตร AI ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก สอน online และ offline ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ กว่า 60 องค์กร พัฒนานวัตกรและวิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์ เสริมศักยภาพ AI ของประเทศ”รศ.เกศินี กล่าว
รศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า Thammasat AI Center จะเป็นสถาบันที่จุดประกายการศึกษาและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ตอบโจทย์สังคม ชุมชน และคุณภาพชีวิต สร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ๆ เพิ่มพูนทักษะด้านดิจิทัลอย่างมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งระดับประเทศและภูมิภาค เกิดความร่วมมือในมิติทางวิชาการด้าน AI กับนานาชาติ พร้อมก้าวไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนสถาบันการศึกษาและส่งมอบเทคโนโลยีการเรียนการสอนด้าน AI ให้แก่ Thammasat AI Center เพื่อสนับสนุนนักศึกษา ครูอาจารย์ และประชาชนให้ได้รับความรู้ ทั้งทางด้านวิชาการและทักษะปฏิบัติการ จากศูนย์ AI ที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย