นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) หรือการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว จึงวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนมาใช้
ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือก เพื่อศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนตามแนวทางของ BCG Model รวมทั้งเก็บข้อมูลจากเกษตรกรโรงคัดบรรจุ ผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าวอ่อนโรงไฟฟ้าชีวมวล กลุ่มทำปุ๋ย และกลุ่มทำถ่าน พบว่าเกษตรกรมีการนำสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยนำสิ่งเหลือใช้ในสวนมะพร้าว ทำเป็นปุ๋ย ช่วยลดค่าปุ๋ยได้ ขณะที่บริษัท/โรงคัดบรรจุมะพร้าว จะมีสิ่งเหลือใช้ เช่น เปลือก จั่น และทะลายมะพร้าว เอาไปถมที่บางส่วนมีผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าวนำไปแปรรูปเป็นใยมะพร้าวก่อนนำไปเป็นชีวมวลของโรงไฟฟ้า หรือนำไปผลิตเพื่อได้ขุยมะพร้าวสำหรับผสมดินขาย และบางกลุ่มนำไปเผาเพื่อทำถ่านอัดแท่งขาย และได้น้ำส้มควันไม้ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่าน
นอกจากนี้ ในการศึกษาวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือกนั้น สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเพิ่มมูลค่าสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการอภิปรายผลงานวิจัย และมุมมองจากคณะวิทยากรภาคส่วนต่างๆ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าของสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวและเชื่อมโยงเครือข่าย BCG ในการเพิ่มมูลค่าจากสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนร่วมกัน