ไทยเจอรายแรก
ติดเชื้อ‘เดลตาครอน’รักษาหายแล้ว
ชี้ลูกหลานโอมิครอนแพร่พันธุ์เร็ว
BN.1เพิ่มมากกว่าสัปดาห์ก่อน4เท่า
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยสัดส่วนโอมิครอนเพิ่มเร็วโดย BA.2.75สัปดาห์เดียวเพิ่มขึ้นเป็น 63.3% ติดเชื้อในประเทศทะลุ 58.8% ขณะที่BN.1 และลูกหลานมากกว่าสัปดาห์ก่อน 4 เท่า ส่วนสายพันธุ์ XBB.1 เจอ 4 ราย และ BQ.1 พบ 7 ราย ขณะที่สายพันธุ์ XBC หรือ เดลตาครอนลูกผสมระหว่าง เดลต้ากับโอมิครอน BA.2 พบในไทยแล้ว 1 ราย รักษาหายแล้ว ยังไม่พบความรุนแรง แต่แพร่เร็วง่าย
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายนว่า ผลตรวจเฝ้าระวัง แบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR 299 ราย พบภาพรวมสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 63.3% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 42.9% และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นจาก 23.2% เป็น 43.9% และล่าสุดเป็น 58.8%
ทั้งนี้ จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัวของตัวอย่างในประเทศไทยถึงขณะนี้ พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 468 ราย จำนวนนี้รวมจำนวน 216 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างนำเข้า เพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID โดยพบว่า BN.1 และลูกหลาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 4 เท่าตัว การเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์กลายพันธุ์เป็นไปได้ที่จะเพิ่มจำนวนการติดเชื้อจนทดแทนสายพันธุ์เดิมที่กระจายอยู่ขณะนี้ นอกจากนี้ ยังพบสายพันธุ์ XBB.1 จำนวน 4 ราย และ BQ.1 จำนวน 7 ราย
“สำหรับสายพันธุ์ XBC หรือ เดลตาครอน ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้ว 1 ราย โดยสายพันธุ์ XBC นั้น เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 ข้อมูลถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน รายงานพบสายพันธุ์ XBC จากหลายประเทศบนฐานข้อมูลสากล GISAID 153 ราย แต่ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ อาจทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น โดยในรายของผู้ป่วยที่ตรวจพบสายพันธุ์ XBC เป็นรายแรกของไทยนั้นปัจจุบันหายเป็นปกติดีแล้ว”อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผย
และว่า ในส่วนสถานการณ์ระบาดทั่วโลกรายสัปดาห์นั้น พบ BA.5 และสายพันธุ์ลูกหลาน ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลกคิดเป็น 72.1% BA.4 และสายพันธุ์ลูกหลานลดจากสัปดาห์ก่อนจาก 3.6% เป็น 3.0% BA.2และสายพันธุ์ลูกหลานคิดเป็น 9.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน BA.1และสายพันธุ์ลูกหลานพบน้อยกว่า 1% BQ.1 และสายพันธุ์ลูกหลานพบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน จาก 19.1% พบเพิ่มเป็น 23.1%) ขณะที่ XBB สายพันธุ์ลูกผสมของ BA.2.10.1 และ BA.2.75 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน จาก 2.0% พบเพิ่มเป็น 3.3%
นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 และเผยแพร่ บนฐานข้อมูลสากล GISAID ต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวล ที่อาจมีผลต่อความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข ขณะนี้มาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือยังจำเป็น เพื่อลดการระบาด รวมถึงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นลดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608
ด้านรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มขึ้น 421,311 คน ตายเพิ่ม 825 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ บราซิล และไต้หวัน ขณะเดียวกัน มีผลวิจัยอาการ Long COVID ในเด็ก โดยนักวิชาการจากสวิสเซอร์แลนด์ออกมาเผยแพร่ โดยสำรวจปัญหาอาการผิดปกติของ Long COVID และตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ที่บ่งถึงการเคยติดเชื้อโควิดในประชากรวัยเด็กอายุ 6 เดือน-17 ปี 1,034 คน จาก 612 ครอบครัว ตั้งแต่ธันวาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ภาวะ Long COVID เกิดในเด็กได้ โดยเฉพาะเกิดมากในกลุ่มเด็กโตเด็กวัยรุ่นช่วงอายุ 12-17 ปีที่เคยติดเชื้อ ดังนั้น เด็กติดเชื้อมาแล้ว หลังหายป่วยระยะแรก ก็ควรหมั่นประเมินสุขภาพ ถ้ามีอาการผิดปกติควรพาไปปรึกษาแพทย์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี