"มนัญญา"ประกาศจุดยืน"ทุเรียนไทยต้องเป็นทุเรียนคุณภาพ" เตรียมตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ลุยตรวจสอบปราบปราม"ทุเรียนสวมสิทธิ์" ย้ำทุกภาคส่วนร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนส่งออก
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา "ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)" โดยมีผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมและผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย สมาคมพืชสวน สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทยจีน สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย สภาหอการค้าไทย ผู้ประกอบการ และเกษตรกร เข้าร่วม ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ กรุงเทพฯ เข้าประชุมสัมมนา
โดย น.ส.มนัญญา กล่าวว่า การบริหารการส่งออกทุเรียนตลอด Supply Chain ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน จึงจะส่งผลต่อความสามารถในการส่งออก เป็น "ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)" ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ คุณภาพผักและผลไม้ไทย เพื่อกำกับดูแลการนำเข้า - ส่งออกผักและผลไม้ไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐาน (Thai Premium Fruits and Vegetable) เป็นไปตามข้อกำหนดการตรวจสอบคุณภาพสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช ตามเงื่อนไขการนำเข้า - ส่งออก รวมถึงกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ โดยมี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งคณะทำงานฯ มีหน้าที่และอำนาจ สั่งพักใช้ เพิกถอน ใบรับรอง หรือระงับ ยกเลิกหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียน เมื่อตรวจพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ประกาศ กฎ ของกรมวิชาการเกษตร หรือระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ เตรียมตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจอีกหนึ่งชุด ซึ่งจะประกอบไปด้วย ที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ เข้าไปเป็นประธานกรรมการ ร่วมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ ในชุดนี้ด้วย โดยจะแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ออกระเบียบ ประกาศ ให้การรับรองการผลิตผักและผลไม้ เพื่อให้ผักและผลไม้มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นไปตามข้อกำหนดการตรวจสอบคุณภาพสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช ตามเงื่อนไขการนำเข้า - ส่งออก ซึ่งการให้การรับรองดังกล่าว เป็นกรณีทั้งผู้ผลิตมีความประสงค์ยื่นคำขอรับการรับรองและการกำหนดให้ผู้ผลิตต้องยื่นคำขอการรับรอง หากผู้ได้รับการรับรองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด จะถูกลงโทษเป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบและประกาศ ตั้งแต่ การตักเตือน การพักใช้ การเพิกถอน หรือการสั่งระงับ หรือยกเลิก แล้วแต่กรณี โดยล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เตรียมประกาศให้เรื่อง "หลักปฏิบัติในการตรวจ และรับผลทุเรียนของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (ล้ง)" เป็นมาตรฐานบังคับตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551 ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแล้ว โดยจะประกาศใช้ในเดือน มีนาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นการกำหนดให้ล้งต้องรับซื้อทุเรียนที่ได้มาตรฐานเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนทุเรียนในจังหวัดต่างๆ เกษตรกร ล้ง ผู้ประกอบการ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการสวมสิทธิ์และทุเรียนอ่อนลดลงอย่างมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างเข้มข้นและลงพื้นที่ตรวจจับอย่างจริงจัง หากพบจะทำลายทันที และมั่นใจว่าผลผลิตปีหน้าดีขึ้น หากเรายังเน้นคุณภาพทุเรียน เพราะจากการลงพื้นที่พบปะกับชาวสวนทุเรียน พบว่า หลายรายมีความกระตือรือร้น ให้ความสนใจในการปลูกทุเรียนคุณภาพ และตระหนักถึงความสำคัญในการรักษา GAP ไม่ให้มีใครมาสวมสิทธิ์ทุเรียนของตน สำหรับอนาคตทุเรียนไทยภายหลังเวียดนามเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดในจีน ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญว่าทุเรียนของไทยต้องเป็นทุเรียนคุณภาพเท่านั้น
ซึ่งนอกจากการส่งออกทุเรียนจะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว ยังมีผลไม้อื่น ๆ อีกมาก ที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งเหมือนทุเรียน ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ พยายามผลักดันทุเรียนคุณภาพ เพื่อเป้าหมายการเป็นอันดับ 1 ของโลก และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลกในคุณภาพของผลไม้ชนิดอื่นๆ ของไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำในการเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมยกระดับมาตรฐานโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อส่งออกเป็นทุเรียนคุณภาพได้มาตรฐาน ไม่เป็นทุเรียนอ่อนมาจากสวนของเกษตรกรในประเทศไทย และต้องตรวจติดตามแหล่งที่มาได้ รวมทั้งการตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชของทุเรียนสด จะต้องเป็นตามข้อตกลงพิธีสารการส่งออกผลไม้ไทย - จีน และเพื่อให้นโยบายการส่งออกทุเรียนคุณภาพไปจีนมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้ทูตเกษตรไทยในจีนทั้ง 3 หน่วยงาน (ฝ่ายเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง ฝ่ายเกษตร ณ นครเซี่ยงไฮ้ และฝ่ายเกษตร ณ นครกวางโจว) ติดตามสถานการณ์นำเข้า ณ ประเทศจีน และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกทุเรียนไทยด้วย
- 006