นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นทุกปี ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมมีสาเหตุหลักจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร จึงส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายในการการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเกษตรกร เกิดความตระหนักถึงผลกระทบ พร้อมเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ปัญหาการเผา รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร
นายเข้มแข็งกล่าวต่อว่า ในปี 2566 ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือเกษตรกร Young smart farmer หรือเกษตรกร Smart farmer หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมให้ความรู้ทแก่เกษตรกร 17,640 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา และสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 337 เครือข่าย ในพื้นที่ 62 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และพื้นที่ 52 จังหวัดที่มีการเผาในภาคการเกษตรสูง โดยการถ่ายทอดเทคนิคและวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร สนับสนุนจุดสาธิตเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรแบบปลอดการเผาตามบริบทของชุมชน