เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) มีการจัดแถลงข่าวเรื่อง “10 ของเล่น ปีใหม่ ระวัง..... อันตรายสำหรับเด็ก” โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงของเล่นเด็ก 10 ประเภท ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระมัดระวังในการซื้อให้บุตรหลาน ประกอบด้วย
1.ของเล่นลูกล้อหรือของเล่นประเภทขับขี่ เช่น รองเท้าสเก็ตช์ สเก็ตบอร์ด สกู๊ตเตอร์ สำหรับสวมใส่กับขาหรือขึ้นไปยืนแล้วใช้เท้าไถให้แล่นไปข้างหน้า โดยอายุขั้นต่ำที่จะเล่นของเหล่านี้ได้คือ 5 ปี เพราะหากอายุต่ำกว่านั้นระบบสมองที่ควบคุมการทรงตัวของการร่างกายยังทำได้ไม่ดี ส่วนเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปที่จะหัดเล่นก็ต้องมีผู้ฝึกสอนจนกว่าจะเล่นได้คล่อง และต้องสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยโดยเฉพาะหมวกกันน็อก ที่สำคัญต้องไม่เล่นบนถนนที่มียานพาหนะแล่นผ่านไป-มาเพราะอาจถูกเฉี่ยวชน และไม่เล่นบนที่สูงเพราะอาจหลุดแนวกั้นร่วงลงมาบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
2.ของเล่นชิ้นเล็กที่นำเข้าปากได้ ข้อนี้น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เพราะวัยดังกล่าวมีพฤติกรรมของนำสิ่งของต่างๆ เข้าปาก ซึ่งตามกฏหมายแล้วของเล่นประเภทนี้จะติดคำเตือนไว้ที่บรรจุภัณฑ์ว่าไม่เหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หรือเป็นเครื่องหมายกากบาทกับเลข 3 หากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ให้ความสนใจอ่านฉลากก่อนเลือกซื้อ บุตรหลานที่ได้รับของเล่นนั้นมาก็อาจได้รับอันตรายจากของเล่นเข้าปากไปอุดหลอดลมได้
3.ลูกโป่ง ในช่วงเทศกาลหรืองานต่างๆ เช่น ปีใหม่ มักจะมีการนำมาตกแต่งสถานที่กันเป็นจำนวนมาก โดยผู้จัดเตรียมลูกโป่งต้องไม่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนในการทำให้ลูกโป่งพองตัว เพราะเป็นก๊าซที่ติดไฟง่ายและลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เข้าร่วมงานเสี่ยงอันตรายจากไฟลวกได้ ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้มีกฎหมายห้ามใช้ก๊าซไฮโดรเจนอัดลูกโป่ง แต่ให้ใช้ก๊าซฮีเลียมแทน อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานการลักลอบใช้ก๊าซไฮโดรเจนกับลูกโป่งอยู่เนื่องจากต้นทุนถูกกว่าก๊าซฮีเลียม
อีกด้านหนึ่ง ภายในงานอาจมีกิจกรรมให้เด็กเป่าลูกโป่ง ซึ่งต้องระมัดระวังอย่าให้เด็กนำลูกโป่งหรือเศษลูกโป่งที่แตกเข้าปากเพราะอาจไปอุดหลอดลมเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ ลูกโป่งเป็นของเล่นที่ไม่เหมาะกับผู้มีอายุต่ำกว่า 8 ปี เนื่องจากไม่มีแรงพอจะเป่าลมให้ลูกโป่งพองตัวขึ้นมาได้ จึงไม่มีประโยชน์ในแง่ของการเล่น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าไม่ค่อยพบคำเตือนติดบนบรรจุภัณฑ์ลูกโป่งเหล่านี้ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทราบ
4.ของเล่นประเภทแสง-สี-เสียง ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรีที่มีหน้าตาเหมือนกระดุม เมื่อเด็กเห็นอาจหยิบเข้าปากได้ซึ่งก็อาจเป็นอันตรายจากการไปติดหลอดอาหาร โดยหากพบว่าแบตเตอรีไปติดหลอดอาหารต้องรีบให้แพทย์นำออกทันทีเพราะหากปล่อยไว้เพียงไม่กี่ชั่วโมงแบตฯ จะรั่วซึมกัดหลอดอาหารได้ เคราะห์ร้ายอย่างหนักสุดถึงขั้นเสียชีวิต หรือไม่ก็ต้องผ่าตัดเอาหลอดอาหารส่วนนั้นทิ้งแล้วนำลำไส้ใหญ่มาต่อแทน ดังนั้นหากพ่อแม่ผู้ปกครองจะซื้อของเล่นประเภทนี้ให้บุตรหลานก็ต้องมั่นใจว่าผู้ผลิตได้ล็อกฝาปิดแบตฯ ไว้เป็นอย่างดี และผู้ผลิตหรือจำหน่ายควรมีคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ว่าเป็นของเล่นที่ใช้แบตเตอรีชนิดกระดุม
5.ของเล่นประเภทแม่เหล็กที่มีมากกว่า 1 ชิ้น โดยการเล่นคือสามารถนำมาประกอบติดกันเป็นรูปร่างต่างๆ เปลี่ยนไป-มาได้ ด้านหนึ่งเป็นของเล่นที่มีประโยชน์เพราะช่วยฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก แต่อีกด้านก็ยังเป็นความเสี่ยงกับเด็กเล็กที่อาจหยิบกลืนเข้าปาก และหากกลืนเข้าไปสัก 2 ชิ้น แม่เหล็กไปดูดติดกันในลำไส้ที่ขดตัวเป็นชั้นๆ โดยมีผนังลำไส้กั้นกลาง ผนังลำไส้ที่ถูกกดทับจากแรงแม่เหล็กทั้ง 2 ชิ้นที่ดูดกันจะมีเลือดออกและเกิดการฉีกขาด เศษอาหารก็สามารถรั่วออกไปทางช่องท้องได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยทาง กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานของเล่นประเภทนี้ว่า ต้องไม่มีความแรงของเม่เหล็กมากพอจะหนีบผนังลำไส้จนเกิดอันตรายได้
6.ของเล่นประเภทพองน้ำ มีลักษณะเป็นตุ๊กตา โดยปกติขนาดจะประมาณเท่านิ้วมือ แต่เมื่อนำไปแช่น้ำทิ้งไว้เพียง 1 วันจะขยายขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก โดยเท่าที่เคยพบคือขยายขึ้นจากก่อนแช่น้ำถึง 200 เท่า ซึ่งเป็นอันตรายหากเด็กหยิบเข้าปากไปแล้วไปพองในลำไส้ ถึงขั้นเคยมีกรณีที่แพทย์ต้องผ่าตัดออกมา ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการสั่งห้ามจำหน่ายและกวดขันตรวจจับกันเป็นระยะๆ จนปัจจุบันหาของเล่นประเภทนี้ในท้องตลาดได้ยากแล้ว แต่ก็ต้องนำมากล่าวถึงไว้ด้วยเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นขอให้ช่วยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7.ของเล่นประเภทอาวุธปืนจำลองที่สามารถยิงกระสุนได้ ซึ่งพบเห็นการจำหน่ายได้ทั่วไป ราคาตั้งแต่ 60-100 บาท มีอันตรายจากการนำไปเล่นไล่ยิงกันแล้วกระสุนไปถูกลูกตา โดยอาจมีเลือดออกในลูกตาถึงขั้นตาบอดได้ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดมาตรฐานโดยจำกัดพลังงานที่ส่งกระสุนออกจากตัวปืนต่อระยะยิง หากไม่เกินค่าดังกล่าวจึงสามารถผลิตขายในท้องตลาดได้
แต่ที่ผ่านมาพบปัญหา เช่น มีการติดฉลากมาตรฐานปลอม หรือบางประเภทถูกตีความว่าเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้จึงไม่ตรวจสอบมาตรฐานให้ แต่ในความเป็นจริงก็มีการนำของเล่นประเภทที่ถูกตีความดังกล่าวไปวางจำหน่ายในท้องตลาด และที่ผ่านมา ของเล่นประเภทอาวุธปืนเหล่านี้ที่มีการอัดลมและยิงกระสุนลูกเล็กๆ เมื่อนำไปตรวจสอบมักพบว่ามีความแรงเกินกว่ามาตรฐานกำหนด
8.พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ซึ่งตามกฎหมายจัดเป็นวัตถุระเบิดไม่ใช่ของเล่น อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้ขายต้องขออนุญาตจำหน่าย ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ควรซื้อให้บุตรหลานเล่น แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการออกแบบบรรจุภัณฑ์สื่อว่าเด็กสามารถเล่นได้ เช่น ใช้ภาพตัวการ์ตูนประกอบ
9.ของเล่นเป็นสารพิษ เช่น ดินใส่สี แป้งต่างๆ ตัวสไลม์ (Slime) วิธีเล่นคือการนำมาขยำแล้วปั้นเป็นก้อน หรือบางชนิดก็ขายในลักษณะเป็นวัตถุดิบให้หาซื้อไปผสมกันเอง อย่างไรก็คาม สิ่งของประเภทนี้จัดเป็นอุปกรณ์ศิลปะไม่ใช่ของเล่น จึงไม่มีมาตรฐานควบคุมส่วนผสมโดยเฉพาะหากเป็นการขายทางออนไลน์ ที่ผ่านมาพบสารพิษจากของเล่นกลุ่มนี้ เช่น สารไฮโดรคาร์บอนจากกาว มีลักษณะเป็นไอระเหย เมื่อนำไปไว้ในห้องนอนเด็กสูดไอระเหยเข้าไปก็จะไปรบกวนทางเดินหายใจ
หรือในอดีตเคยมีลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ที่เด็กนำมาปั้นแล้วใช้หลอดเป่า ปัจจุบันถูกสั่งห้ามขายแล้ว ขณะที่ยังมีเรื่องของสีที่ใช้ในของเล่น หากโชคร้ายก็อาจไปเจอสีที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ รวมถึงของเล่นประเภทอ่อนนิ่ม ซึ่งมีสารที่เรียกว่าพลาสติไซเซอร์ (Plasticizer) ผสมลงไปเพื่อทำให้เนื้อพลาสติกอ่อนนิ่ม แต่มีผลข้างเคียงคือรบกวนต่อมไร้ท่อซึ่งส่งผลต่อระบบฮอร์โมนเพศ รวมถึงอาจก่อมะเร็งได้ในระยะยาว ที่ผ่านมามีการนำตัวอย่างของเล่นประเภทอ่อนนิ่มนี้มาตรวจสอบแล้วพบปริมาณสารพลาสติไซเซอร์เกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด
และ 10.ของเล่นที่ใช้เมื่อเล่นน้ำ เช่น ปลอกแขนหรือห่วงยาง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นของเล่น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องตระหนักว่าไม่ใช่อุปกรณ์ชูชีพ ดังนั้นจึงไม่สามารถป้องกันการจมน้ำได้ ซึ่งโดยปกติผู้ผลิตจะระบุคำเตือนไว้บนบรรจุภัณฑ์ว่าให้เด็กเล่นได้ภายใต้ความดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ในระดับน้ำที่เด็กเหยียบพื้นถึง และอุปกรณ์นี้ไม่ใช่ชูชีพ แต่ปัญหาคือจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแล้วไม่มีการทำฉลากคำเตือนเป็นภาษาไทย ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทราบ เมื่อปล่อยให้เด็กนำไปเล่นกันเองก็อาจจมน้ำเสีนชีวิตได้
"ทั้งหมดนี้ก็เป็น 10 ข้อของของเล่นที่คิดว่าน่าจะต้องทบทวนกันก่อนจะไปหาซื้อเพื่อมาให้ลูกเล่น บางอย่างห้ามซื้อเลย บางอย่างซื้อแล้วต้องดูอายุ บางอย่างซื้อมาแล้ว ดูอายุแล้ว วิธีการเล่นต้องตรวจสอบ ต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
- 006