สถานการณ์ไฟป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าเป็นห่วงหลังพบว่าตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2566 จนถึงวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาพบไฟป่าสะสมสูงถึง 135 จุด สูงสุดที่ อ.แม่ลาน้อย 36 จุด หวั่นหากเข้าหน้าแล้งจริงสถานการณ์ไฟป่าคงหนักหน่วงมากกว่าทุกปี และยิ่งมีการขัดแย้งในสหภาพเมียนมา หมอกควันไฟป่ายิ่งหนักกว่าเดิมเนื่องจากมีการเผาป่าอย่างหนักในประเทศเมียนมา
วันที่ 28 ม.ค.66 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 สรุปสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) PM2.5 มีค่าระหว่าง 39-88 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ "ปานกลาง ถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ" (ค่ามาตรฐานเกิน 50 มคก./ลบ.ม.) Hotspot เกิดขึ้นจำนวน 83 จุด (เชียงราย 38 จุด เชียงใหม่ 31 จุด แม่ฮ่องสอน 5 จุด และลำพูน 9 จุด)
ในส่วนของศูนย์อำนวยการควบคุมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไฟป่า ได้สรุปสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มกราคม 2566 จำนวน 135 จุด สูงสุดที่อำเภอแม่ลาน้อย จำนวน 36 จุดโดยเกิดขึ้นสูงสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 77 จุด คุณภาพอากาศประจำวันที่ 28 มกราคม 2566 1.1 ค่า PM2.5 สถานีอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เท่ากับ 39 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง) 1.2 ค่า PM2.5 สถานีอำเภอแม่สะเรียง เท่ากับ 44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง)1.3 ค่า PM2.5 สถานีอำเภอปาย เท่ากับ 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลต่อสุขภาพ)
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ตั้งเป้าหมายปี 2566 จุดไฟป่าต้องไม่เกิน 9,378 จุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดว่า หน่วยงานภาครัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไฟป่าได้มากน้อยแค่ไหน โดยปัจจัยสำคัญคือประชาชนในพื้นที่ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐหรือไม่ แต่ที่เห็นชัดเจนในทุก ๆ ปีที่ผ่านมา เมื่อทางจังหวัดประกาศจะจับกุมผู้ลักลอบเผาป่า พบว่ากลับมีการเผาป่าอย่างหนักเพิ่มมากขึ้น และไฟป่าที่เกิดขึ้น สามารถดับได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่จุดเกิดไฟป่าเป็นเทือกเขาสูงชันยากต่อการเข้าไปดับไฟป่าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญปัญหาไฟป่าของแม่ฮ่องสอนในแต่ละปี ค่ามลพิษถือว่าสูงสุดต่อเนื่องยาวนานกว่า จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ค่ามลพิษดังกล่าวส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากประเทศเมียนมาร์ทั้งในรัฐคะยา และรัฐฉาน รวมไปถึงรัฐกะเหรี่ยงที่พบจุดฮอทสปอตมากกว่าไทย สาเหตุหนึ่งมาจากความขัดแย้ง ระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมาร์กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ที่อาศัยอยู่ใกล้ชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทหารทั้งสองฝ่าย ต่างก็พากันเผาป่า เพื่อทัศนวิสัยในการสังเกตุการณ์และการมองเห็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงการทำลายทุ่นระเบิดสังหารที่ฝังในพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนั้น จากการรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยแพร่รายงาน UNODC Report – major opium economy expansion is underway in Myanmar เมื่อวันที่ 27 ม.ค.66 ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา การปลูกฝิ่นได้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในประเทศเมียนมา โดยในช่วงปี 2557-2563 การปลูกฝิ่นเคยลดลง แต่ข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมได้หลังกองทัพทำรัฐประหารในปี 2564 พบฤดูปลูกปี 2564 พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และเพิ่มแบบก้าวกระโดดในฤดูปลูกปี 2565 โดยพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 88
รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ในประเทศเมียนมาร์ ย่อมมีการขยายพื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มมาขึ้นอีกอย่างแน่นอน การขยายพื้นที่ปลูกฝิ่น ย่อมมีการถางป่าเพื่อสร้างพื้นที่เพาะปลูกฝิ่นและย่อมมีการเผาป่าเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันไฟป่าในเมียนมาร์ย่อมส่งผลกระทบต่อแม่ฮ่องสอนโดยตรง - 003