เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกะทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2566 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกและผู้ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 เขตพื้นที่ฯ ตามที่ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเฉพาะกิจคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอ ก.ค.ศ.แต่งตั้งเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 3 คณะ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ได้ดำเนินการพิจารณาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อนุกรรมการผู้แทนคณะศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) อนุกรรมการนายอำเภอหรือผู้แทน อนุกรรมการผู้อำนวยการเขตหรือผู้แทน และอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ.ใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป และมีเงื่อนไขว่า หากตรวจสอบภายหลังพบว่า ประธานอนุกรรมการหรืออนุกรรมการรายใดมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หรือมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด จะถูกเพิกถอนการดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการหรืออนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ตรวจสอบความถูกต้องก่อนแจ้งให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป
"ต่อไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปฐมนิเทศเพื่อมอบนโยบาย และทาง ก.ค.ศ.จะจัดลำดับงานว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 245 เขตพื้นที่ฯ ควรจะดำเนินการอะไรบ้าง ทั้งนี้ พบว่าผู้ที่เป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.มาจากหลากหลายอาชีพ เช่น เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด , อธิการบดีมหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น การที่มีคนหลากหลายเข้ามาเป็นประธานและคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ.นั้น จะทำให้การกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ ตอบโจทย์คุณภาพพื้นที่ และมีความโปร่งใส" น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ รายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่ สพฐ.ขอให้พิจารณารายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. (ว16/2565) เนื่องจากปัจจุบัน สพฐ.ไม่มีบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกฯ ประกอบกับจะต้องนำตำแหน่งว่างมากำหนดสัดส่วนเพื่อใช้ในการรับย้ายและสำหรับการคัดเลือกเพื่อให้การบริหารงานบุคคลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และได้ผู้บริหารสถานศึกษามาทำหน้าที่ในการบริหารการศึกษาโดยเร็ว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ก.ค.ศ.จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 16/2565 ที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยได้ปรับปรุงรายละเอียด การดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งฯ ในส่วนของหลักสูตรการคัดเลือก ให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา (ว 10/2564) โดยมีรายละเอียดสาระสำคัญ ดังนี้ ภาค ก ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ โดยปรับเนื้อหาการประเมินให้สอดคล้องกับลักษณะงานที่ปฏิบัติของตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว 3/2564) ซึ่งต้องมีการบูรณาการงานทั้ง 5 ด้าน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน
รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาค ข ผลงาน ประเมินจากผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานตำแหน่งที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และ ภาค ค วิสัยทัศน์และแนวคิดในการบริหารจัดการสถานศึกษาในการที่จะปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก โดยกำหนดองค์ประกอบ/ตัวชี้วัด ประเด็นท้าทายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงการปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ ว 10/2564
- 006