โควิดไทยรายสัปดาห์อยู่ในระดับคงตัว มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นแบบคงที่ 204 ราย เฉลี่ย 29 ราย/วัน เสียชีวิตรอบสัปดาห์ 9 ศพ เฉลี่ยวันละ 1 ราย ดับสะสมตั้งแต่ต้นปี 242 ราย ขณะที่กรมควบคุมโรคยันวัคซีนโควิด ชนิด mRNA มีประสิทธิภาพ-ปลอดภัยสูง ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้แน่นอน สธ. คาดยอดป่วยโควิดอาจสูงขึ้นในช่วงสงกรานต์-ปิดเทอม
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาล รายงานสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ข้อมูลของสัปดาห์ที่ 8 ปี 2566 ระหว่างวันที่ 19 -25 กุมภาพันธ์ พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สะสม 204 คน เฉลี่ยวันละ 29 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 4,116 คน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ผู้เสียชีวิตรายใหม่มี 9 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 1 ราย รวมยอดสะสม 242 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 โดยมีผู้ป่วยปอดอักเสบ 66 คน และมีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 44 คน
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ยืนยันว่าวัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยจัดหามาทั้งชนิดรุ่นเก่า (monovalent) และรุ่นใหม่ (bivalent) มีประสิทธิภาพและปลอดภัยระดับสูง ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะออกคำแนะนำการใช้วัคซีนโควิด-19 ทุกครั้ง ต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคถึงประสิทธิภาพของวัคซีน โดยเฉพาะความสามารถลดการติดเชื้อ ป่วยหนักและลดการเสียชีวิต หากฉีดวัคซีนครบ
นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนไปมากกว่า 146 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นวัคซีน mRNA มากกว่า 55 ล้านโดส วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพดี ปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงที่พบบ่อย มักเป็นอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ต่ำๆ สำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น แพ้วัคซีนพบได้น้อยมาก ในกรณีที่ส่งต่อข้อความในสื่อโซเชียลเกี่ยวกับประเด็นเกิดกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA นั้น กรมควบคุมโรค ตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศพบว่า ปัจจุบันยังไม่พบความเกี่ยวข้องของการเกิดอาการสมองอักเสบกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามหลังการฉีดวัคซีน ข้อมูลในประเทศไทยพบได้ประมาณ 1 ราย ต่อการฉีดหนึ่งล้านเข็ม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ในทางกลับกันเราพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่า 5-10 เท่า และมีความรุนแรงสูงกว่ามากโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เมื่อติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเข้าไอซียูหรือเสียชีวิตจากภาวะทางหัวใจและปอดได้สูงหากไม่ฉีดวัคซีน แต่ถ้าได้รับฉีดวัคซีนภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะพบได้น้อยลงมากแม้จะเป็นโควิด-19 ดังนั้น จึงอาจพูดได้ว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสเกิดหัวใจอักเสบจากโควิด-19 ได้
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแถลงหลังประชุมติดตามสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงทั้งแถบยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชีย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตระหว่างวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 204 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 66 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 44 ราย และผู้เสียชีวิต 9 ราย แนวโน้มอยู่ในระดับคงตัว โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือนหรือไม่ได้ฉีดภูมิคุ้มกัน LAAB สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพบติดเชื้อโควิดประปราย ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอาจพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ช่วงสงกรานต์และเปิดเทอมนี้ จึงเน้นสื่อสารให้ประชาชนยังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคคือ ฉีดวัคซีนโควิดหรือฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ( LAAB) หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ส่วนผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือ LAAB หากป่วยให้รีบเข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ
นพ.โอภาสยังยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่างๆต่อเนื่อง ส่วนกรมควบคุมโรคจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายฉีดวัคซีนในปี 2567 ขณะที่กรมการแพทย์วางแนวทางดูแลรักษาสำหรับปีหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยา เวชภัณฑ์และการรักษา
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศกัมพูชา และให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรค คัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยไข้หวัดนกในสถานพยาบาล เพิ่มการเฝ้าระวังไข้หวัดนกในชุมชน โดยแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบและสอบสวนป้องกันควบคุมการระบาดของโรค กรณีพบผู้ป่วยทางเดินหายใจที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนก หรือสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตาย หรือมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วันหรือกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงไม่ทราบสาเหตุ หรือป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุให้คัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตายด้วย
รวมถึงขอให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนหรือจังหวัดที่เลี้ยงสัตว์ปีกจำนวนมาก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อซักซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุรือสงสัยไข้หวัดนก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หน่วยงานปศุสัตว์ อสม. อาสาสมัครปศุสัตว์ ทันที งดชำแหละหรือนำไปรับประทานแบบไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ