นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเฝ้าระวัง ควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า มีแนวทาง
3 ระยะ คือระยะที่ 1 ระยะเผชิญเหตุ ระยะที่ 2 ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำของโรค และระยะที่ 3 ขอคืนสถานภาพรับรองการปลอดโรค AHS ในประเทศไทย จาก WOAH โดยข้อกำหนดของ WOAH ระบุเงื่อนไขในการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจะต้องไม่พบม้าป่วยใหม่เพิ่มเติมในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี และต้องมีการหยุดการใช้วัคซีนภายในประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าวมากว่า 2 ปีแล้ว ขณะนี้เป็นการดำเนินงานระยะที่ 3 ตั้งเป้าให้สามารถขอคืนสภาพปลอดโรคภายในปี 2566
อย่างไรก็ดี กรมปศุสัตว์ และทุกหน่วยงานภาคี ภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลสำหรับขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก และยื่นเรื่องขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS อย่างเป็นทางการต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เรียบร้อยแล้ว โดยทางคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ทางด้านโรคสัตว์ (Scientific committee) ของ WOAH จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี 2566 หากผ่านการพิจารณา ประเทศไทยจะได้รับสถานะปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า อย่างเป็นทางการภายในปี 2566
ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยปลอดโรค AHS แล้ว จะส่งผลให้สามารถเคลื่อนย้ายม้าข้ามจังหวัดหรือออกนอกประเทศได้สามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าทั้งภายในประเทศ และระดับนานาชาติรายการต่างๆ ได้ สามารถนำม้าให้บริการนักท่องเที่ยวหรือสันทนาการ กระตุ้นการท่องเที่ยว รวมทั้งกิจการนำเข้า-ส่งออกสัตว์กลุ่ม Equids จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติภายใต้ข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการควบคุมโรค และเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย