วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
นโยบาย‘ผู้หญิง-เด็ก-ครอบครัว’  9 พรรคร่วมแสดงวิสัยทัศน์‘วันสตรีสากล’

นโยบาย‘ผู้หญิง-เด็ก-ครอบครัว’ 9 พรรคร่วมแสดงวิสัยทัศน์‘วันสตรีสากล’

วันพุธ ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566, 06.30 น.
Tag : ครอบครัว เด็ก ผู้หญิง วันสตรีสากล
  •  

“8 มีนาคม” ของทุกปี ตรงกับ“วันสตรีสากล (International Women’s Day)” ย้อนไปในวันที่ 8 มี.ค. 2400 แรงงานหญิงโรงงานทอผ้าในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงาน เนื่องจากสภาพการจ้างงานในยุคนั้นที่นายจ้างค่อนข้างเอารัดเอาเปรียบ ยังไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน วันหยุด-วันลา อีกทั้งยังกดค่าจ้าง รวมถึงความเสี่ยงเฉพาะของแรงงานหญิงที่มากกว่าแรงงานชาย คือเมื่อตั้งครรภ์ก็จะถูกเลิกจ้างทันที

 


จากการเรียกร้องสิทธิแรงงานวันสตรีสากล ยกระดับไปสู่การเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ในทุกมิติ ทั้งโอกาสในการศึกษา สาธารณสุข การแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ มีการจัดกิจกรรมทุกปีในหลายประเทศทั่วโลก และเนื่องในโอกาสที่วันสตรีสากล ประจำปี 2566 นี้ ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่ ที่จะนำมาซึ่งการมีรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ชุดใหม่ สิทธิสตรีจึงเป็นอีกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ แสดงวิสัยทัศน์

ดังเช่นเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็กและสตรี จัดกิจกรรมนำเสนอ 8 นโยบายด้านสตรีต่อพรรคการเมือง เนื่องในวันสตรีสากล ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี โดยมีตัวแทนจาก 9 พรรคการเมือง ร่วมเสนอนโยบายของพรรคในด้านนี้ ประกอบด้วย มนัส โกศล พรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคแรงงานสร้างชาติ หนึ่งในนโยบายที่พยายามขับเคลื่อนมาตลอดคือ “ผ้าอนามัยฟรีสำหรับเด็กและเยาวชนหญิง” ในวัยที่ยังไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองได้

“ด่านแรกที่สุดของสุขภาพหญิงก็คือช่องคลอด ก็คือด่านแรกที่จะติดเชื้อ เรารณรงค์ให้แจกผ้าอนามัยฟรี เราจะมีการแจกผ้าอนามัยฟรีตั้งแต่เด็กที่มีรอบเดือนจนถึงจบปริญญาตรี เพราะเราดูแล้วผ้าอนามัยที่เป็นต้นทุนสิ่งหนึ่งคือแพงมาก เราไปสำรวจมา น้องๆ หนูๆ ลูกหลานเราบางคนใช้ผ้าอนามัยเดือนหนึ่งเกิน 3 กล่องก็มี 1 กล่อง 2 กล่อง 3 กล่อง จะเห็นว่าต่างกัน ถ้าลูกกรรมกร รายได้น้อยอาจจะใช้ที่โลว์เกรด (Low Grade-คุณภาพต่ำ) ด้วยซ้ำไป สิ่งเหล่านี้เราต้องมีนโยบายชัดเจน” มนัส กล่าว

รัตเกล้า สุวรรณคีรี พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหา “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”
ยกกรณีที่เป็นข่าวใหญ่ล่าสุด คือแม่วัยรุ่นทิ้งศพลูกวัย 8 เดือน ซึ่งปัญหาดังกล่าวอยู่กับสังคมไทยมานานและจะต้องเดินหน้าแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ “ร้อยละ 85 ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเกิดจากการขาดการวางแผนที่ดี” อีกทั้งแม่วัยรุ่นยังเผชิญปัญหา “การหลุดออกจากระบบการศึกษา” ซ้ำเติมด้วยอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะเดียวกัน “การสอนเพศศึกษาในไทยต้องมากกว่าเป็นแค่ตัวหนังสือ และต้องสอนกันทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem)” เพราะการที่เด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นมา มีทั้งพ่อแม่ มีคนอื่นๆ ในชุมชน ไปจนถึง “การทำให้แม่วัยรุ่นยังได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียนต่อไปก็ต้องทำอย่างจริงจัง” อนึ่ง ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การศึกษาไทยคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์มากขึ้น เรื่องนี้นำมาใช้กับแม่วัยรุ่นที่ต้องเรียนอยู่กับบ้านได้ แต่ทางโรงเรียนก็ต้องให้ครูช่วยติดตามเยี่ยมบ้านด้วย เพื่อให้เด็กเรียนหนังสือตามทันเพื่อนๆ

“เรามองว่าการที่โรงเรียนจะต้องสนับสนุนเป็นพิเศษ ทางรัฐเองก็ต้องสนับสนุนทางโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษด้วยสำหรับกรณีโรงเรียนที่ดูแลในเรื่องนี้ อย่างที่สองเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการยกระดับการสร้างนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นวิชาชีพ แต่เราเสริมว่าอยากให้มีในระดับชุมชน เพราะถ้าเป็นในระดับชุมชนสิ่งที่เราทำได้คือ 1.เฝ้าสอดส่องรับรู้ถึงปัญหา ยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำได้ก่อนที่ปัญหามันจะเกิดเพราะถ้าเขาอยู่ใกล้ชิดบางทีเขาเห็นก่อนด้วยซ้ำว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหา

2.ให้ความรู้กับวัยรุ่นเกี่ยวกับเพศศึกษาที่เหมาะสม เรื่องการคุมกำเนิดก็ตาม รวมถึงการติดตามเพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ซ้ำซ้อน 3.การจัดอบรมให้กับพ่อแม่ ให้กับชุมชน ให้มีความเข้าใจไม่ว่าในเรื่องเพศศึกษาหรือว่าบทบาทของสตรี นักสังคมสงเคราะห์ชุมชนเพื่อให้เขาสามารถทำงานได้เต็มที่ ต้องมีการดูแลเขาด้วย บรรจุให้เขาเป็นข้าราชการจะได้รับเงินเดือนคงที่ มีบทบาทมีสวัสดิการที่ดี” รัตเกล้า กล่าว

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบาย “ฉีดวัคซีนHPV สำหรับเด็กหญิงอายุ 9-11 ปี” เพื่อเป็นการป้องกัน “มะเร็งปากมดลูก” โรคร้ายที่คร่าชีวิตประชากรเพศหญิงทั่วโลก โดยทุกๆ 2 นาทีจะมีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคนี้ 1 คน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 11 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน เพราะการป้องกันย่อมลดต้นทุนที่ต้องใช้ไปกับการรักษาเมื่อผู้หญิงป่วยแล้ว และหากเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือเพียง 4 ราย ต่อประชากรหญิง 1 แสนคน เรื่องนี้จึงไม่อาจมองข้าม

“วันนี้มะเร็งปากมดลูกถูกพบเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่มะเร็งปากมดลูกทำให้มีผู้หญิงเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เราจะขยายสิทธิก่อนการรักษา จาก 30 บาท ไม่ใช่แค่รอรักษาอย่างเดียวแล้ว แต่จะต้องครอบคลุมถึงการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคนั้นด้วย นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจและตั้งมั่นว่าถ้าหากเรามีโอกาสได้เข้ามาบริหารประเทศ นอกจากการฉีดวัคซีน HPV เรายังมีการป้องกันทั้งสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ บางคนถามว่าฉีดให้9-11 ปี แล้วนอกจากนั้นจะทำอย่างไร พรรคเพื่อไทยเราคิดไว้รอบคอบแล้ว เราจะมีการตรวจหาสตรีทุกวัยที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน ว่าใครที่ยังไม่ติดเชื้อเราก็ฉีดวัคซีนให้ได้” ธีรรัตน์ กล่าว

เยาวภา บุรพลชัย พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า เนื่องจากทางเครือข่ายสตรีจัดงานครั้งนี้เพื่อยื่นข้อเสนอ 8 ข้อ ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้หญิง จึงอยากเสนอเรื่อง “สุขภาพจิตครอบครัว (Family Mental
Health)”
 เพิ่มเติมอีกข้อหนึ่ง “ทุกวันนี้ทุกคนคาดหวังครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุข คิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ให้ผู้หญิงลองถามตนเองว่าเรามีความสุขน้อยลงเรื่อยๆ หรือเปล่า” ผู้หญิงคนหนึ่งในวัยสาวสะพรั่ง ยังสวยและอยากทำอะไรก็ตาม แต่วันหนึ่งเมื่อต้องแต่งงานมีครอบครัว ต้องอุ้มท้องคลอดลูก สภาพร่างกายก็เปลี่ยนไป

นอกจากตั้งท้องคลอดแล้วผู้หญิงก็ต้องเลี้ยงลูกพร้อมกับการทำงานหาเงิน แต่เมื่อต้องทำงานก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเอง ก็ต้องไปใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็ก เมื่อลูกโตขึ้นมาอีกนิดก็ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน เพราะในฐานะแม่ที่ดีก็ต้องทำงานหาเงินส่งลูกเรียน ภาระจะยิ่งหนักขึ้นหากเป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ทำงานหาเลี้ยงลูกเองเพียงคนเดียว ต่อมาเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ด้วยความที่ไม่เคยใกล้ชิดลูกเลยในช่วงวัยเด็ก ทำให้เปิดปัญหาในครอบครัวอย่างลูกติดเพื่อน หรือพ่อแม่คุยกับลูกไม่รู้เรื่อง สุดท้ายเมื่อลูกจบการศึกษาระดับสูงๆ บางคนก็ไม่ได้ผูกพันกับพ่อแม่

“ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับเรื่อง Mental Health (สุขภาพจิต) แล้วก็เรื่องความรุนแรงในครอบครัวด้วยเช่นกัน ทะเลาะกันเรื่องเงิน เรื่องลูก เรื่องทางเพศที่เข้ากันไม่ได้ก็ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้เหมือนกัน ดังนั้นลองคิดดู พออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงเรามีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย เพราะว่าภาระทุกอย่างมันหนักอึ้งพรรคชาติพัฒนากล้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราไม่ได้ใช้เงินจัดการปัญหาอย่างเดียว เราต้องลงไปให้ลึกกว่านั้นถึงรายละเอียด ชีวิตคนเราถ้าเราเริ่มจากครอบครัว เราสามารถทำให้ครอบครับอบอุ่นและมีความสุขได้ โดยการทำกิจกรรมร่วมกันวันละเล็กละน้อย

อาจจะเป็นกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรืออะไรก็ได้ที่เราจะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเราได้ เราหันกลับมามองเรื่องเล็กๆ จะทำให้ครอบครัวอบอุ่นขึ้น แล้วถ้าหากครอบครัวมีความสุขอบอุ่น ความรักจะทำให้เด็กและเยาวชนไม่ไปทำอะไรที่ไม่ดีกับชีวิตตัวเอง จะทำให้เขาขับเคลื่อนตัวเองไปในสิ่งที่ถูกต้อง จะทำให้เขาไม่สร้างความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้นวันนี้พรรคชาติพัฒนากล้า ขอเสนอเรื่อง Family Mental Health (สุขภาพจิตครอบครัว) เป็นวาระแห่งชาติ และพรรคเราจะผลักดันเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดในตอนนี้” เยาวภา กล่าว

ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการออกแบบนโยบายเพื่อ “ผู้หญิงสูงอายุ”ซึ่งก็จำเป็นเช่นกัน เพราะปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society Completed)” เรียบร้อยแล้ว หากดูจากสถิติประชากรในเดือนม.ค. 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศไทย นำไปสู่แนวคิด “กองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุ”ในลํกษณะ Segmentation (การแบ่งส่วน) ที่เกิดจากการรวมตัวกันสร้างอาชีพ

“สิ่งเหล่านี้ประชาธิปัตย์คิดบนหลักจะต้องไม่กระทบกับระบบงบประมาณของประเทศ หมายความว่า เงินที่ใส่เข้าไปจะต้องสามารถสร้าง Productivity (ผลผลิต) ที่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย แล้วก็เน้นนโยบายที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน เพราะว่าพอเป็น Aging Society (สังคมสูงวัย) จะต้องมีการขยายเวลาอายุที่จะเกษียณจากการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ตาม” ดรุณวรรณ กล่าว

ณัฐวุฒิ บัวประทุม พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบาย ไล่ตั้งแต่ การลาคลอดควรขยายจาก 90 วัน เป็น 180 วัน แบ่งวันลาได้ระหว่างพ่อ-แม่ มีของขวัญแรกเกิดมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท นำไปสู่การซื้ออุปกรณ์ดูแลเด็กหรือการเสริมทักษะต่างๆ เงินอุดหนุนถ้วนหน้า 1,200 บาท/เดือน มีระบบติดตามคัดกรองเด็กแต่ละครอบครัว ส่งเสริมการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาษีผ้าอนามัยและการแจกผ้าอนามัยฟรี

การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก การมีสถานพยาบาลยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยจังหวัดละ
1 แห่ง ในวัยทำงานต้องมีค่าจ้างขั้นต่ำที่ 450 บาท/วัน โดยค่อยๆ ปรับขึ้น
แบบขั้นบันไดตามอัตราเงินเฟ้อ กำหนดมาตรฐานชั่วการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ สนับสนุนการตั้งสหภาพแรงงาน การเข้าถึงประกันสังคมแบบถ้วนหน้า นโยบายบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน การเพิ่มจำนวนผู้ดูแล (Caregiver) เพื่อดูแลผู้สูงอายุ การเข้าถึงที่อยู่อาศัย สนับสนุนบทบาทของท้องถิ่นในการดูแลประชาชน ลดความกังวลถูกตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณ เป็นต้น

“การส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ผ่านระบบคูปองต่างๆ ซึ่งเป็นคูปองที่เด็กประถม มัธยม อุดมศึกษา มีขั้นบันไดในการเลือกว่าเขาจะใช้ระบบอย่างไร แล้วก็รวมถึงกรณีการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุที่มากขึ้น ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่างๆ ประเด็นความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนหญิงที่มีแค่ 700 คน ในสถานีตำรวจกว่า 1,400 แห่ง ในพนักงานสอบสวนหมื่นกว่าคนมีผู้หญิงแค่ 700 คน เราสนับสนุนให้มีผู้หญิงอย่างน้อยที่สุดสถานีละ 1 คน ในเชิงของการสอบสวน” ณัฐวุฒิ กล่าว

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หากดูค่าเฉลี่ยนักการเมืองระดับชาติ หรือสมาชิกรัฐสภา ทั้งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 26 ของสมาชิกทั้งหมด แต่ที่ประเทศไทยจะอยู่ที่เพียงร้อยละ 15 ของสมาชิกทั้งหมด อยู่ที่อันดับ 138 จาก 187 ประเทศ สำหรับพรรคไทยสร้างไทยจึงมีจุดยืนต้องการเพิ่มจำนวนนักการเมืองหญิงในสภาให้มากขึ้น

นโยบายสร้างศูนย์ดูแลผู้หญิงและเด็ก อย่างน้อยต้องมีทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อดูแลผู้หญิงและเด็กโดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ยังมีนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้แม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องมีกองทันสนับสนุน ซึ่งสัดส่วนระหว่างแม่เลี้ยงเดี่ยวกับพ่อเลี้ยงเดี่ยว จะอยู่ที่ 80 : 20 อาจเป็นเพราะเมื่อครอบครัวหย่าร้างลูกมักอยู่กับแม่ต่อไปเพราะชินกับที่แม่เคยเป็นผู้เลี้ยงดูมา หรือเด็กเล็กๆ ก็จะผูกพันกับแม่มากกว่า ทั้งนี้ในสถานการณ์โควิด-19 ผู้หญิงเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบาง หลายคนตกงานแล้วยังต้องเลี้ยงลูก และแม้จะกลับไปทำงานในภายหลังก็ไม่ง่ายแล้ว

“สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปโลกปัจจุบันเปลี่ยนทุกๆ 2-3 ปีไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เปลี่ยนทุกๆ 5-6 ปี ตอนนี้ถึงเราจะมีทักษะในการทำงานอย่างหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไป2-3 ปี ทักษะในการทำงาน ในตลาดแรงงาน กลายเป็นทักษะอย่างอื่นที่โลกต้องการ ก็เลยคิดว่าต้องมีการมาช่วย Upskill-Reskill ผู้หญิง ความจริงก็เข้ากับ Theme ของวันสตรีสากล 8 มีนา ปีนี้ด้วย เขาใช้ Theme ว่า จะทำอย่างไรให้ดิจิทัลมาทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศได้ ซึ่งเราก็คิดว่าถ้ามีการมาช่วย Upskill-Reskill ตรงนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานของโลกได้อย่างดี ก็จะช่วยทำให้เกิดความเท่าเทียมในการทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว และในการเติบโตในสังคมที่ดีขึ้น” ธิดารัตน์ กล่าว

ปาติเมาะ เปาะอิแตดาโอะ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงประเด็น “ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง” ซึ่งทำให้ทางพรรคออกนโยบายตั๋วร่วมรถเมล์-เรือ และค่ารถไฟฟ้าตลอดสายไม่เกิน 55 บาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบอาชีพของคนในครอบครัว “ความเครียดจากหนี้สิน” นำไปสู่นโยบายพักชำระหนี้สิน 3 ปี มูลค่าหนี้ไม่เกิน 1 ล้านบาท “ภาระค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงน้ำสะอาดและกระแสไฟฟ้า” จึงมีนโยบายติดตั้งเครื่องกรองน้ำทุกหมู่บ้าน และนโยบายส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์

“ไม่เพียงแต่การติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์อย่างเดียวเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเรามีนโยบายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้กับทุกหลังคาเรือนที่ติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ รถไฟฟ้านี้มีการผ่อน 60 งวดเดือนละ 100 บาท เท่ากับ 6,000 บาท เพื่อที่จะให้คนสามารถรับ-ส่งลูกไปโรงเรียน ใช้ดำเนินชีวิตไปได้ ที่สำคัญที่สุด เราบอกประเทศไทยเป็นประเทศของอุตสาหกรรม คนในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำสวน ทำนา ทำไร่ ฉะนั้นเกษตรกรต้องร่ำรวยและไม่ผูกขาดกับนายทุน ก่อนปลูกเราต้องรู้ราคาก่อน แล้วก็ควรรู้ว่าเราขายได้จำนวนเท่าไร สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น” ปาติเมาะ กล่าว

ณิรินทร์ เงินยวง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ทางพรรคกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำนโยบาย ดังนั้นครั้งนี้ขอพูดในฐานะคนเองเป็นคุณแม่ลูกสอง ชีวิตหย่าร้างแม้ยังไม่ถึงขั้นเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะสามียังช่วยดูแลลูก จึงมองเห็นประเด็น “สุขภาพจิตเด็ก” ซึ่งส่งผลกระทบกับเด็กในระยะยาว เด็กเติบโตมาในครัวเรือนแบบไหน เห็นอะไรบ้างที่บ้าน เห็นการทารุณกรรม เห็นพ่อแม่แสดงกิริยา
ไม่ดีต่อกัน ซึ่งเด็กก็เหมือนผ้าขาวและต้องเติบโตมาเป็นอนาคตของชาติ การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตจะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ

“อยากให้มีศูนย์ อยากให้มีคลินิก ไม่ว่าจะของเอกชนเอง ของรัฐบาลเอง ในโรงเรียน ในชุมชนต่างๆ อยากให้เรื่องศูนย์สุขภาพจิตเด็กเป็นอะไรที่คนไม่ควรมองข้าม เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง แล้วมันก็จะแก้ไขปัญหาอาชญากรในอนาคต” ณิรินทร์ กล่าว

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • งานวันเด็กทำเนียบคึกคัก ‘OKMD’จัดเต็ม 7 เกมสนุกปลุกการเรียนรู้ เด็กสนใจร่วมกิจกรรมแน่นบูธ งานวันเด็กทำเนียบคึกคัก ‘OKMD’จัดเต็ม 7 เกมสนุกปลุกการเรียนรู้ เด็กสนใจร่วมกิจกรรมแน่นบูธ
  • \'เลขาธิการ กพฐ.\'วอนผู้ปกครองจับมือครูดูแลเด็ก เพื่อป้องกันเหตุที่คาดไม่ถึง 'เลขาธิการ กพฐ.'วอนผู้ปกครองจับมือครูดูแลเด็ก เพื่อป้องกันเหตุที่คาดไม่ถึง
  • สัมภาษณ์พิเศษ : ‘รศ.ดร.อารี จำปากลาย’  ‘เด็กห่างพ่อแม่’เรื่องใหญ่  ‘รัฐ-สังคมไทย’อย่ามองข้าม สัมภาษณ์พิเศษ : ‘รศ.ดร.อารี จำปากลาย’ ‘เด็กห่างพ่อแม่’เรื่องใหญ่ ‘รัฐ-สังคมไทย’อย่ามองข้าม
  •  

Breaking News

4 ผู้สมัครลุ้นชิง ผอ.ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์รอบสุดท้าย 29 พ.ค.นี้

ปลัด มท.ยันเตรียมกำลังพลดูแล ปชช. ในพื้นที่ภาคใต้ เผยจับตาคนบิดเบือนประวัติศาสตร์

'ปลัด มท.'ลั่น‘มหาดไทย-ยุติธรรม’พี่น้องพร้อมร่วมมือทำงาน ปัดทำสงครามตัวแทนพรรคการเมือง

เซเว่น อีเลฟเว่น ผนึกกำลังรัฐ หนุนเกษตรกรไทย กระจายผลไม้ทั่วประเทศ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved