กทม.ฝุ่นพิษอันดับ10ของโลก
27พื้นที้อ่วม!
นครพนมอากาศแย่สุดในไทย
เหนือตอนบนฝุ่นละอองยังพุ่ง
ทอ.ส่งหน่วยบินทำฝนหลวง
ดับฝุ่น/หมอกควัน/แก้ภัยแล้ง
เมืองกรุงยังจมฝุ่นพิษค่า PM2.5 พุ่งเกินค่ามาตรฐาน 27 พื้นที่ กทม.ติดอันดับ 10 ของโลก ส่วนจ.นครพนม สภาพอากาศแย่ที่สุดในไทย วัดค่าฝุ่นพุ่งได้ 259 มคก./ลบ.ม. อุตุฯเตือนไทยตอนบนฝุ่นละอองยังพุ่ง ด้าน ผบ.ทอ.ส่งหน่วยบินใช้อากาศยาน 8 ลำ ปฏิบัติการฝนหลวง ดับฝุ่น ควันหมอก แก้ภัยแล้ง “บิ๊กป้อม”จี้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาฝุ่นพิษด่วน
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 34-67 ไมโครกรัม (มคก.)/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) รวม 27 พื้นที่ ได้แก่ เขตหนองแขม, เขตทวีวัฒนา , เขตคลองสามวา , สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา , เขตบางนา , เขตตลิ่งชัน , เขตภาษีเจริญ , เขตบางซื่อ , เขตบางกอกน้อย , เขตหนองจอก , เขตดอนเมือง , เขตสายไหม , เขตประเวศ , เขตคลองเตย , เขตบางเขน , เขตหลักสี่ , เขตบางขุนเทียน , เขตยานนาวา , เขตปทุมวัน , เขตลาดกระบัง , สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง , เขตบางกอกใหญ่ , เขตธนบุรี , เขตจตุจักร , เขตคลองสาน , เขตคันนายาว และเขตมีนบุรี
สำหรับข้อแนะนำ ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ บุคคลทั่วไปควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลียควรปรึกษาแพทย์ ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้านเว็บไซต์ www.iqair.com เก็บข้อมูลและรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก โดยพบว่า กทม.เมืองหลวงของประเทศไทย อยู่ในอันดับ10 ของโลก มีค่าฝุ่น PM2.5 ถึง 155 มคก./ลบ.ม.ความเข้มข้น PM2.5ใน จ.เชียงใหม่ ขณะนี้เป็น 12.6 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อทุกคน อีกทั้ง ยังพบว่าพื้นที่ จ.นครพนม ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงถึง 259มคก./ลบ.ม.อยู่ในระดับสีม่วง คำแนะนำป้องกันตัวจากมลพิษทางอากาศให้ประชาชนสวมหน้ากากภายนอกบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศ ปิดหน้าต่างเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศภายนอกบ้านที่สกปรก และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกบ้าน
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ลักษณะอากาศทั่วไป 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า ขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ฝุ่นละอองในระยะนี้ ประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลาง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อน
วันเดียวกัน ที่โรงเก็บอากาศยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6 พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถผบ.ทอ.เป็นประธานพิธีส่งหน่วยบินปฏิบัติภารกิจฝนหลวงของกองทัพอากาศ ประจำปี 2566 โดยมีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี
พล.อ.อ.อลงกรณ์ กล่าวว่า ภารกิจฝนหลวงกองทัพอากาศนับเป็นอีกภารกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนำความภาคภูมิใจสู่พี่น้องชาวกองทัพอากาศ เพราะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่กองทัพอากาศได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงครั้งนี้ และขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ใช้ความรู้ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ผบ.ทอ.กล่าวอีกว่า ภารกิจดังกล่าวยังช่วยลดปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ซึ่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆมากกว่า 50 ปีแล้วใช้เครื่องบินหลากหลายในการปฏิบัติภารกิจ โดยปีนี้ได้ใช้เครื่องบิน 3 แบบ เครื่องบินโจมตีแบบที่7 เครื่องบินแบบ Alpha jet เครื่องบินลำเลียง บล.2 ก หรือ BT 67 เครื่องบินธุรการ หรือเครื่องบินแบบ AU23 ทั้งนี้กองทัพอากาศ มีความพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจเสมอ
สำหรับการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงสู้ภัยแล้งในปี 2566 กองทัพอากาศจัดอากาศยาน 8 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนกรมฝนหลวงฯ ดังนี้ 1.การปฏิบัติการฝนหลวงด้านการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ใช้เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) 3 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ 2 (บ.จธ.2) 3 เครื่อง และ 2.การปฏิบัติการฝนหลวงด้านการยับยั้งและการเกิดพายุลูกเห็บ ใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) 2 เครื่อง
นอกจากนี้กองทัพอากาศ ได้ร่วมกับกรมฝนหลวงฯ จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวง 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ 2.โครงการผลิตพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น 3.โครงการภารกิจฝนหลวงเมฆอุ่นด้วยเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ (Ground Base Generator) และ 4.โครงการวิจัยร่วมการผลิตพลุจากวัสดุธรรมชาติพร้อมทั้งสนับสนุนพื้นที่ของ 11 ฐานบินในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ กองบิน 1 จ.นครราชสีมา, กองบิน 2 จ.ลพบุรี, กองบิน 3 จ.สระแก้ว, กองบิน 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์, กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี, กองบิน 21 จ.อุบลราชธานี, กองบิน 23 จ.อุดรธานี, กองบิน 41 จ.เชียงใหม่, กองบิน 46 จ.พิษณุโลก, กองบิน 56 จ.สงขลา และสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี
ที่ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ5จังหวัดพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมซึ่งที่ประชุมเห็นชอบการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นPM2.5 ในสถานการณ์วิกฤติในพื้นที่ 17 จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ประกาศ กำหนดให้กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล ทุกขนาด ต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)เนื่องจากโครงการประเภทนี้ไม่ว่าขนาดความยาวเท่าใดมีผลกระทบต่อการสูญเสียชายหาดและระบบนิเวศด้านหน้าของโครงสร้าง และมีการกัดเซาะต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมกำกับโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงไม่ทันต่อการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องเรียน
ทั้งนี้ ก่อนการจัดทำ EIA โครงการต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการ และได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก่อน พร้อมทั้งได้เห็นชอบรายงาน EIA ด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านโครงการอาคารฯ ด้านโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ และด้านโครงการพลังงาน รวม 10 โครงการ เช่น โครงการทางเลี่ยงเมืองสกลนคร โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี และแผนงานขยายเขตไฟฟ้า
ให้หมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่อ.ปายและอ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น
รวมทั้งที่ประชุมฯได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ ทส.ฉบับใหม่ 2 ฉบับ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ จ.ภูเก็ต และบางพื้นที่ใน จ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นกลไกทางกฎหมายสำหรับช่วยอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนแผ่นดินและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ต่อเนื่องจากประกาศฯ ฉบับเดิม