ตำรวจPCTตะครุบเจ้าแม่แชร์ทอง
หมายจับ61ใบ
ตุ๋นเหยื่อเล่นแชร์ทองคำ
หอบเงินหนีกว่า37ล้าน
ล่องหนกบดานร่วม2ปี
อ้างเฉยหมุนเงินไม่ทัน
2 ปี ตำรวจ PCT ตามรวบได้แล้ว เจ้าแม่แชร์ “เจ๊วันเพ็ญ” ตุ๋นเหยื่อเล่นแชร์ทอง หอบเงินหนีกว่า 37 ล้าน สุดท้ายเกม เพราะชอบกินหนังควาย พบหมายจับ 61 หมาย อ้างหมุนเงินไม่ทัน
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น./หัวหน้า PCT ชุดที่ 5พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น./รอง หน. PCT ชุดที่ 5พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. พ.ต.อ.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ ผกก.กก.สส.บก.น.4 พ.ต.อ.ณรงค์ฤทธิ์ ทองแพ พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.มาโนชย์ ทองแก้ว พ.ต.ต.คณิตนนท์ ถนอมศรี พ.ต.ต.ชัยวัฒน์ จงเจริญ ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 และชุดสืบสวนนครบาล (บก.สส.บช.น.) กก.สส.บก.น.4 ร่วมกันจับกุม น.ส.วันเพ็ญ หรือ กวินา (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135/5 หมุ่ 18 ต.เขากะลา อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดี “ฉ้อโกงประชาชน โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ” รวม 61 หมายจับ ได้ที่เซฟเฮ้าท์บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 111 หมู่ 4 ต.ชะอม อ.แก่งคอย จว.สระบุรี พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง (พบข้อมูลการตั้งวงแชร์อีกหลายวง), สมุดบันทึก 1 เล่ม และซองใส่ซิม 5 ชิ้น
สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 63-64 ผู้ต้องหาไลฟ์สดเฟซบุ๊กชักชวนผู้เสียหายร่วมลงทุนขายทอง โดยอ้างว่านำเข้าจากต่างประเทศในราคา 3,000-4,000 บาท ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด โดยในช่วง 2-3 ครั้งแรก จะมีการส่งทองหรือจ่ายค่าตอบแทนให้ ทำให้มีเหยื่อหลงเชื่อจำนวนมาก และเป็นการโฆษณาแบบปากต่อปาก จนมีลูกค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้น รวมผู้เสียหายกว่า 200 รายทั่วประเทศ จากนั้น น.ส.วันเพ็ญ หอบเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 37 ล้านบาท หลบหนีไปอย่างไร้ร่องลอย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินที่ผู้เสียหายยอมทุบหม้อข้าวมาลงทุน ทำให้เกิดความเดือดร้อนจำนวนมาก ต่อมากลุ่มผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ทั่วประเทศไทย จนนำไปสู่หมายจับรวม 61 หมาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนการทำธุรกรรม แต่ไร้ร่องลอย น.ส.วันเพ็ญ โดยไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ และพบว่าขณะก่อเหตุมีตัวละครที่คอยทำธุรกรรมให้กับ น.ส.วันเพ็ญ ต่อมาเจ้าหน้าจึงแบ่งกำลังลงพื้นที่หลังพบว่า น.ส.วันเพ็ญ หลบหนีกบดานในพื้นที่ จ.สระบุรี โดยมีลูกน้องคอยทำธุรกรรมอำพรางการใช้ชื่อตนเอง และมีเบาะแสสำคัญจากร้านอาหารละแวกพื้นที่ว่า น.ส.วันเพ็ญ ชอบกินหนังควาย จนทราบแหล่งกบดาน เป็นเซฟเฮาส์ลับ มีรั้วสูงรอบขอบชิด ภายในชนบทใกล้เขาใหญ่ ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงวางกำลังซุ่มป่าข้างทางหน้าเซฟเฮาส์ กระทั่งพบ น.ส.วันเพ็ญ ผู้ต้องหา เดินปิดบังอำพรางใบหน้าสวมหมวกมิดชิด แต่ไม่รอดสายตาเจ้าหน้าที่ โดยใช้เวลาติดตามมากว่า 1 ปี จนสามารถจับกุมตัว พร้อมแสดงหมายจับให้ น.ส.วันเพ็ญ ดู 26 หมาย จากการตรวจสอบประวัติพบมีอีก 35 หมายจับทั่วประเทศ รวมเป็น 61 หมาย
ต่อมาผู้เสียหายที่ถูกหลอกหลายราย ได้เดินทางมาที่ บก.สส.บช.น. เพื่อทวงถามเรื่องมูลหนี้สินที่ถูกโกงไป พร้อมกับบอกเจ้าหน้าที่ว่า กลุ่มตนได้ติดตาม น.ส.วันเพ็ญ มาเป็นเวลานาน ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะจับกุมได้ เพราะทราบว่า น.ส.วันเพ็ญ หลบหนีไปอยู่ในป่า
สอบสวน น.ส.วันเพ็ญ ให้การรับสารภาพว่า ได้เริ่มชักชวนคนใกล้ตัว รวมถึงผู้อื่น ให้ร่วมวงแชร์ทางออนไลน์ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า วันเพ็ญ โคตรทะแก ซึ่งไม่เคยมีปัญหาใดๆ จนถึงเดือน ต.ค. 63 ได้เริ่มคิดอยากจะเปิดวงแชร์แบบใหม่ในลักษณะให้ออมทอง โดยได้ทำระบบการลงทุนออมทองไว้ คือ ให้ผู้ลงทุนลงเงินก่อนเป็นจำนวนเงินที่ถูกกว่าราคาทองจริงในตลาด เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นจะส่งทองคำจำนวน 1 บาทไปให้ โดยวิธีการคือ จะสั่งซื้อทองที่ห้างทองสุพรรณ ผ่านช่องทางออนไลน์ในราคาเต็มตามปกติ โดยในช่วงแรกที่เริ่มทำ ในขณะที่ทองคำราคาประมาณ 28,000 บาท ตนก็จะไปประกาศหาผู้ที่ต้องการลงทุนออมทอง โดยโฆษณาว่า สามารถออมทองในราคาเพียงแค่ 24,000 บาท โดยออมเป็นระยะเวลา 3 เดือน และจะได้รับทองคำจริงจำนวน 1 บาท ซึ่งสาเหตุที่ในช่วงแรกยังไม่ขาดทุน เพราะยังหาคนที่อยากลงทุนออมทองต่อเนื่องลงเงินออมเพิ่ม และนำเงินส่วนต่างไปเพิ่มเติมในยอดเงินที่ขาด เพื่อให้สามารถซื้อทองคำในราคาเต็มได้ และจัดส่งทองคำที่ได้สั่งซื้อมาให้ผู้ลงทุนคนแรกๆ จึงทำให้น่าเชื่อถือว่าลงทุนจำนวนเงินน้อย แต่สามารถซื้อทองจริงได้
ซึ่งในช่วงเวลาที่มีผู้คนสนใจมากที่สุด มีลูกค้าจำนวนประมาณ 100 คน และมีนักลงทุนบางคนที่ร่วมลงทุนหลายครั้ง จนสะสมเป็นยอดออมทองประมาณ 50 บาท และในขณะนั้น มียอดเงินที่มีผู้ลงทุนอยู่ประมาณหลักแสนบาท เนื่องจากต้องหมุนเวียนเงินเพื่อให้ระบบยังดำเนินต่อไปได้
หลังจากนั้นเมื่อประมาณต้นปี 64 เริ่มเกิดปัญหา เนื่องจากไม่สามารถหาผู้ลงทุนใหม่ๆ มาลงทุนต่อได้ จึงได้เริ่มลดราคา โดยเปิดให้เริ่มออมทองในราคาบาทละ 8,000 บาท จากราคาเต็มประมาณ 30,000 บาท (ในขณะนั้น) เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจ และก็ได้มีผู้มาร่วมลงเงินออมทองจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถหมุนเวียนเงินได้ เพราะต้องนำเงินมาทบยอดไปมาจากลูกค้าหลายคน จนไม่สามารถซื้อทองให้ครบตามจำนวนของผู้ที่ลงทุนได้ จึงได้เริ่มมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดี จากนั้นก็เริ่มย้ายที่อยู่และเปลี่ยนชื่อนามสกุลจริง เพื่อหลบหนี เบื้องต้นเจ้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหาก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.คูคต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า วิธีการที่ผู้ต้องหารายนี้ใช้หลอกลวงนั้น มีความน่ากลัว เพราะมีการสร้างความน่าเชื่อถือหลอกเหยื่อให้ตายใจก่อน ซึ่งด้วยวิธีการนี้ ทำให้จำนวนเงินที่ผู้เสียหายตัดสินใจนำมาลงทุนนั้น จะมีจำนวนที่สูงกว่าการถูกหลอกลวงทั่วๆ ไป จึงขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า การร่วมลงทุนในโลกออนไลน์นั้นมีความเสี่ยง สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการระดมปราบปรามผู้กระทำผิดทางออนไลน์อยู่ตลอด ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ฉะนั้นผู้ที่ยังทำหรือคิดจะทำ ขอเตือนว่า มันไม่คุ้มได้คุ้มเสีย เมื่อได้ลงมือก่อเหตุ