เตือนโกงออนไลน์แบบใหม่
มิจฉาชีพใช้ QR Code ดูดเงิน
ดีอีเอสเตือนภัย แก๊งคอลเซ็นเตอร์มามุขใหม่ ใช้ QR Codeหลอกดูดเงินร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ โดยทำทีเป็นสั่งอาหาร และให้ร้านสแกนเพื่อรับเป็นเพื่อน แต่แท้จริงแล้วคือ Scams หลอกดูดเงิน จึงขอให้ประชาชนตระหนัก รู้เท่าทันกลโกง และระวังก่อนสแกน
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนในเรื่องการฉ้อโกงออนไลน์รูปแบบใหม่ของแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยการใช้ QR Code หลอกดูดเงิน วิธีการคือ แก๊งคอลเซนเตอร์ติดต่อร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันไลน์หลอกสั่งข้าวกล่องจำนวน 100 กล่อง เพื่อนำไปจัดเลี้ยงประชุม และโอนมัดจำมาก่อน 2,000 บาท
วันต่อมา คนร้ายได้โทรศัพท์บอกให้ร้านอาหารสั่งชุดอาหารพิเศษเพิ่ม 7 ชุด และส่ง QR Code มาให้ร้านแอด และบอกว่าจ่ายเงินเพิ่มให้ภายหลัง โดยอ้างว่าเป็น QR Code แอดไลน์เท่านั้น แต่เมื่อแสกน QR Code พบว่า หน้าจอเหมือนถูกไวรัส เจ้าของโทรศัพท์จึงรีบเข้าแอปฯ ธนาคาร เพื่อโอนเงินออกส่วนใหญ่ออกไปบัญชีอื่นก่อน และโทรศัพท์ก็เริ่มค้าง ระบบรวนจึงรีบปิดเครื่อง
จากกรณีที่เกิดขึ้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน จึงขอแจ้งเตือนว่า ในการใช้จ่ายสินค้าหรือบริการต่างๆ ร้านอาหารหลายแห่งเริ่มใช้ QR CODE ในการชำระเงินแบบไร้เงินสด แต่เหรียญมีสองด้าน การใช้งานที่ค่อนข้างสะดวกของ QR CODE ก็ต้องระวังและมีสติในการใช้งานด้วยเช่นกัน เพราะคนร้ายหรือมิจฉาชีพอาจจงใจใช้ QR CODE พิมพ์ URL ซึ่งนำไปสู่เว็บไซต์หลอกลวง (Phishing) หลอกให้กรอกข้อมูลหรือบัญชีธนาคาร หรือหลอกให้โอนเงินไปบัญชีคนอื่นที่ไม่ใช่บัญชีของร้านค้าได้
ดังนั้นประชาชนต้องปกป้องตัวเอง และป้องกันภัยจาก QR Code หลอกลวง หรือ QR Code Scams ดังนี้ 1. ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของ QR CODE ว่ามีความหน้าเชื่อถือหรือไม่ โดยก่อนกด Scan ควรตรวจสอบหรือ Preview ตัวลิงก์หรือ URL โดยเมื่อเราใช้กล้องของมือถือ Smart Phone ส่องดูก่อนกด Scan หากพบว่าลิงก์ที่ปรากฎขึ้นมาแปลกๆ หรือไม่ตรงกับชื่อเว็บไซต์ที่ใช้บริการอยู่ก็ไม่ควรที่จะกด Scan ต่อ
2. ใช้โปรแกรมในการ Scan ที่สามารถระบุได้ว่าลิงก์ที่ Scan จาก QR CODE เป็นลิงก์ที่ปลอมหรือหลอกลวง (malicious links) ซึ่งสามารถหาใช้งานได้จากโปรแกรม Antivirus ที่มีคุณสมบัตินี้ คล้ายก็การ scan virus ก่อนใช้งาน usb drive แต่นี้คือการ Scan QR CODE หรือลิงก์ก่อนที่จะทำธุรกรรมต่อไป
3. เมื่อกด Scan QR CODE ไปแล้ว ก่อนโอนเงินหรือทำธุรกรรมใดๆ ควรจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบัญชีของผู้ขายจริงๆ โดยสอบถามยืนยันกับผู้ขายว่าชื่อบัญชีนี้ถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะโอนเงินชำระค่าสินค้าไป เพราะคนร้ายสามารถสร้าง QR CODE ปลอมบัญชีอื่นซึ่งไม่ใช่บัญชีของร้านค้าเอามาหลอกเราได้ ควรตระหนักหรือระวังในส่วนนี้ด้วย
หากท่านใดได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งมิจฉาชีพ หรือถูกหลอกลวงออนไลน์ต่าง ๆ หรือพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ทางสายด่วนโทร 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 18 มี.ค. 2566 ขณะที่ พ.ต.อ.รุ่ง ทองมนต์ ผกก.ตม.จว.สระแก้ว ร่วมกับ พ.ต.อ.พัฒนชัย ภมรพิบูลย์ ผกก.สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว, พ.ต.ท.จิรพัฒน์ เขียวศิริ สว.ส.ทท.สระแก้ว(สารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยวสระแก้ว) และ กองร้อยทหารพรานที่ 1302ชุดควบคุมกรมทหารพรานที่13 ได้สนธิกำลังร่วมกันเฝ้าตรวจเข้มป้องกันและสกัดกั้นผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายหมายจับของศาลฯจะเดินทางออกไปประเทศกัมพูชา ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตามคำสั่งคุมเข้มด่านชายแดนทั่วประเทศของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประพัสร์ ผบ.ตร.
ต่อมา จนท.ชุดปฏิบัติการร่วมฯได้รับแจ้งจาก จนท.ตม.ประจำจุดตรวจหนังสือเดินทาง อาคารผู้โดยสารขาออกราชอาณาจักร ด่าน ตม.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ว่าเครื่องไบโอเมทริกซ์ (เครื่องแสกนใบหน้า) ได้ตรวจพบบุคคลมีหมายจับ จะขออนุญาตเดินทางออกไปประเทศกัมพูชา จึงนำกำลังไปตรวจสอบพบ น.ส.กาญจนา วาสกุล อายุ 27 ปี ชาว จ.อุดรธานี เมื่อตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ สตม.พบว่า น.ส.กาญจนาฯเป็นผู้ต้องหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีหมายจับของศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 119/2565 ลงวันที่ 18 ส.ค.2565 กระทำผิดฐาน”ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์โดยแสดงตนเป็นคนอื่น ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน,ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ซึ่ง น.ส.กาญจนาฯยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง จนท.จึงนำตัวมาลงบันทึกประจำวัน ก่อนควบคุมตัวไปส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินคดีตมหมายจับของศาลฯต่อไป