โพลเผยคนไทยหนุนวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ รับมือ‘ฝุ่น น้ำท่วม แผ่นดินทรุด’
23 มีนาคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ ฟิวเจอร์เอิร์ธแห่งประเทศไทย (Future Earth Thailand) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่อง “การศึกษา (วิจัย) ภัยพิบัติเพื่อการป้องกันและเตรียมความพร้อมของประเทศ” ทำการสำรวจในเดือนมีนาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 400 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติเพื่อการป้องกันและเตรียม ความพร้อมของประเทศ
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการศึกษา (วิจัย) เรื่องภัยพิบัติ (น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 78.00 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 2.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และ ร้อยละ 2.25 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องภัยพิบัติที่ต้องทำการศึกษา (วิจัย) อย่างเร่งด่วนมากที่สุด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 46.00 ระบุว่า เรื่องคุณภาพอากาศ เช่น PM 2.5 รองลงมา ตัวอย่าง ร้อยละ 26.75 ระบุว่า เรื่องการป้องกันน้ำท่วม/การตื้นเขิน ของแม่น้ำหรือทะเลสาบ ตัวอย่าง ร้อยละ 13.00 ระบุว่า เรื่องภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภาวะโลกร้อน ตัวอย่าง ร้อยละ 9.00 ระบุว่า เรื่องการเกษตรสมัยใหม่ ตัวอย่าง ร้อยละ 3.50 ระบุว่า เรื่องแผ่นดินทรุดตัว เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตัวอย่าง ร้อยละ 1.75 ระบุว่า เรื่องสึนามิ (Tsunami)
-005