วันที่ 25 มี.ค.66 จังหวัดแม่ฮ่องสอนถูกปกคุมด้วยหมอกควันไฟป่าอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนควันไฟป่ามากถึงขั้นระคายเคืองตา เนื่องจากกระแสลมนิ่งอากาศไม่ยกตัว ทำให้ควันไฟป่าสะสมมากขึ้น สถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน วัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก P.M 2.5 จากเมื่อวานที่อยู่ 211 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเพิ่มขึ้นเป็น 262 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากยังการเกิดไฟลุกลามไหม้ป่ากระจายในทั้ง 7 อำเภอ โดยตลอดทั้งวันของวันที่ 24 มี.ค.ตรวจพบจุดฮอตสปอต ความร้อนเกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนถึง 547 จุด ส่งผลให้ควันไฟป่าปกคุมเมืองแม่ฮ่องสอนมืดมัว บรรยากาศในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นไปอย่างเงียบเหงา ผู้คนส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่ในบ้าน มองจากด้านล่างตัวเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นไปบนดอยวัดพระธาตุดอยกองมูไม่เห็นองค์เจดีย์ทั้งสององค์ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่อยู่บนวัดพระธาตุดอยกองมูมองลงมาก็ไม่เห็นตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เห็นแต่หมอกควันที่ขาวโพนลอยอบอวนจนมืดมัว
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สั่งการให้มีการระดมรถบรรทุกน้ำจากทุกหน่วยจำนวนนับสิบคัน ออกทำการพ่นละอองน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในอากาศ ลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก P.M 2.5 พร้อมให้มีการติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำในพื้นที่ อ.ปาย อ.แม่สะเรียง และ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งทั้ง 3 อำเภอถือว่าเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าและหมอกควันมากที่สุด นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลศรีสังวาลย์แม่ฮ่องสอนและโรงพยาบาลประจำอำเภอยังได้เตรียมพร้อมห้องปลอดฝุ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่เกิดผลกระทบจากหมอกควันไฟป่าแล้วจำนวน 9,170 ราย
ทั้งนี้ทางศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่าสาเหตุไฟป่าเกิดจากการเผาป่าเพื่อบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรและหาของป่า โดยตามความเชื่อแล้วถ้าเทือกเขาจุดใดที่เกิดไฟป่าจะทำให้เห็ดถอบออกมากในช่วงเริ่มฤดูฝน จึงมีการลักลอบเผาป่าเป็นประจำทุกปีจนเกิดการลุกลามทำให้พื้นที่ป่าเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนดำเนินการควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยใช้มาตรการหลัก 10 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการการประชาสัมพันธ์ 2.มาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิง 3. มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด 4.มาตรการลาดตระเวน เฝ้าระหวัง และดับไฟ 5.มาตรการเผชิญเหตุ 6.มาตรการลดฝุ่นละออง 7.มาตรการดูแลสุขภาพประชาชน 8. มาตรการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอื่น ๆ 9.มาตรการบังคับใช้กฎหมาย และ 10.มาตรการสร้างความยั่งยืน จนทำให้สามารถลดพื้นที่ความเสียหายของป่าจากในปี 2564 เสียหาย 1.7 ล้านไร่ และในปี 2565 ลดลงเสียหาย 1.3 ล้านไร่ - 003