‘บิ๊กเด่น’ระดมสมอง
เร่งต้าน‘ภัยไซเบอร์’
พบมีเหยื่อกว่า 2 แสน
เสียหาย 3 หมื่นล้านบ.
ผบ.ตร.-บิ๊กอู๊ด ลุยทำเวิร์กช็อประดมสมองตำรวจยุคใหม่ ผลิตสื่อให้โดนใจประชาชน ต้านภัยไซเบอร์ หลังจากพบเหยื่อถูกตุ๋นกว่า 2 แสนราย เสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท ด้าน ตร.ไซเบอร์ เตือนภัย มิจฉาชีพใช้กลโง หลอกลวงรูปแบบใหม่ ชี้เหยื่อเป็นเมียร็อกเกอร์ชื่อดัง สูญเงินไปแล้วนับแสน
เมื่อวันที่ 19 เมษายน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.พร้อมด้วย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดมสมองข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หัวข้อ “ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์” โดยมีวิทยากรในวงการโฆษณา ร่วมการประชุมดังกล่าว
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึงปัจจุบัน ได้รับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กว่า 2 แสนคดี ความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท จึงมีนโยบายให้เร่งเสริมสร้างความตระหนักรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป มีภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นการสร้าง ‘วัคซีนไซเบอร์’ ให้กับประชาชน จึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยเชิญข้าราชการตำรวจจากทุกหน่วยที่รับผิดชอบ และคณะทำงานผลิตสื่อของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 141 นาย มาประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีวิทยากรหลากหลายท่านจากวงการโฆษณา มาร่วม
ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ นอกจากจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตสื่อของตำรวจ ยังต้องการระดมสมองให้ตำรวจคิดแคมเปญในการสื่อสารเพื่อต้านภัยไชเบอร์ ที่สามารถใช้ได้ทุกช่องทาง (Platform) และให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง (Impact) ก่อให้เกิดความสำเร็จในการรณรงค์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ หรือสร้างวัคซีนไซเบอร์ ให้กับพี่น้องประชาชนได้สัมฤทธิ์ผลต่อไป
วันเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท.กล่าวถึงกรณีมิจฉาชีพปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เป็นคนรู้จัก คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หลอกยืมเงินหรือให้โอนเงิน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวที่มีผู้เสียหายซึ่งเป็นภรรยาของนักร้องเพลงร็อกชื่อดัง ถูกมิจฉาชีพใช้บัญชีไลน์ปลอมของบุตรชายติดต่อมาพูดคุย ใช้ภาพโปรไฟล์ปลอม หลอกลวงให้โอนเงินหลายแสนบาท ภายหลังจึงทราบว่าถูกหลอกลวง จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดี จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-16 เมษายน 2566 พบว่าการหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มีประชาชนแจ้งความร้องทุกข์กว่า 8,342 เรื่อง หรือคิดเป็น 3.48% ของการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 312 ล้านบาท
โฆษก บช.สอท.กล่าวว่านอกจากการปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เพื่อหลอกลวงประชาชนลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพยังใช้วิธีการสุ่มโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้จากการค้นหาผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ สวมรอยอ้างว่าเป็นบุคคลที่เหยื่อรู้จัก แล้วระบุว่าเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ จากนั้นก็จะขอยืมเงิน โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นต่างๆ สัญญาว่าจะคืนให้ แต่สุดท้ายก็หลบหนีไป จึงขอฝากเตือนให้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และมีสติก่อนจะทำธุรกรรมการเงิน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี