ชาวบ้าน 2 ตำบลในอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กำลังได้รับความเดือดร้อนสาหัสจากกลิ่นเหม็นของมูลหมูที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์มโดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสียต้องกินข้าวในห้องนอน ปวดศีรษะหัวและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ล่าสุดล่ารายชื่อและร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันที่ 20 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านถ้ำปลาหมู่ 3 และหมู่ 11 ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ตัวชาวบ้านจำนวนหนึ่งนำโดยนายสมเพชร ไชยศาสตร์ อายุ 61 ปี นายหนูเดือน โคตะนนท์ อายุ 56 ปี และนายเดือน ไชยสาท อายุ 59 ปี ได้นำสมุดบัญชีล่ารายชื่อชาวบ้าน เพื่อร่วมลงชื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีมีนายทุนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านทำฟาร์มเลี้ยงหมู แล้วเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงด้านมลพิษทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วย และบางคนเตรียมอพยพออกนอกพื้นที่
นายหนูเดือน โคตะนนท์ กล่าวว่า กลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมูนับวันจะรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีลมพัดมา และเวลาหัวค่ำถึงกลางคืน ทำให้ชาวบ้านถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ และมีปัญหาต่อสุขภาพ หายใจไม่เต็มปอด ปวดศีรษะ บางคนเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ การดำเนินชีวิตในแต่ละวันเป็นไปด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานหลายเดือน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดยังพบว่ามีการขยายฟาร์มเลี้ยงหมูไปในพื้นที่ ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกันกับ ต.สหัสขันธ์ และเริ่มส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอีกด้วย
นายเดือน ไชยสาท กล่าวว่า มลพิษทางอากาศจากกลิ่นเหม็นมูลหมูเริ่มมาตั้งแต่ 2565 โดยมีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงหมู โดยเลี้ยงในรูปแบบฟาร์มปิด มีการสร้างโรงเรือนอย่างใหญ่โต ช่วงแรกๆมีอยู่ไม่กี่ราย ก่อนที่ต่อมาได้ขยายเป็น 8 รายจำนวน 16 ฟาร์ม โดยเลี้ยงรายละ 2 ฟาร์มจำนวน 1,500 ตัว ฟาร์มเลี้ยงหมูแต่ละราย จะอยู่กระจายกันตามพื้นที่ใครมัน ซึ่งแต่เดิมเคยปลูกยางพาราและมันสำปะหลัง ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นฟาร์มเลี้ยงหมู บางฟาร์มอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2-5 กม. ขณะที่บางฟาร์มอยู่ให้กับอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านเพียง 200 เมตรเท่านั้น
นายเดือน กล่าวอีกว่า ช่วงแรกที่หมูในฟาร์มยังตัวเล็กปัญหายังไม่เกิด แต่พอหมูโตขึ้น การให้อาหารเพิ่มมากขึ้นและปริมาณมูลหมูที่ขับถ่ายออกมาก็มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นเหม็นโชยออกมาจากฟาร์มหมูตลอดวันยันคืน สำหรับบ้านตนอยู่ห่างจากฟาร์มหมูประมาณ 1 กม. ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจากมูลหมูเกินสุดจะทนไหว จากที่เคยใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว ลูกเมีย นั่งพักผ่อนสบายๆ นั่งรับอากาศดีๆ หรือนั่งล้อมวงทานข้าวบนแคร่หน้าบ้านอย่างเดิมก็ไม่ได้ เพราะกลิ่นมูลหมูเหม็นมาก ถึงขนาดลงทุนซื้อแอร์มาติดตั้งเพื่อให้ปรับอากาศ เวลาจะกินข้าวต้องยกสำรับไปกินในห้องนอนและปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิด ก็พอที่จะบรรเทากลิ่นเหม็นลงได้บ้าง แต่รสชาติอาหารก็ไม่อร่อยเหมือนเดิม เพราะยังได้กลิ่นเหม็นอบอวลอยู่ จึงไม่ต่างกับกินข้าวกลางคอกหมู จึงเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาลงพื้นที่ดูความทุกข์ยากของชาวบ้าน และเร่งรีบแก้ไขปัญหานี้ด้วย
ด้านนางสมัย ไชยสาท ภรรยานายเดือน กล่าวว่า ช่วงแรกที่เริ่มมีกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมูโชยเข้ามาในหมู่บ้าน ตนกับเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบก็แจ้งปัญหากับผู้นำชุมชน ให้ช่วยประสานนายทุนและเจ้าของฟาร์มหมู บริหารจัดการในฟาร์มดีๆ เพื่อที่จะไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านถ้ำปลา 2 หมู่บ้านกว่า 500 หลังคาเรือน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่ตนเองและเพื่อนบ้านหลายคน เริ่มมีอาการไม่ปกติทางร่างกาย เหนื่อยหอบง่าย หายใจไม่เต็มปอด ปวดศีรษะ ไปหาหมอรับยามาทานก็ไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ บางครั้งรู้สึกท้อแท้ใจ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข คงต้องอพยพออกจากหมู่บ้านนี้ไปอยู่ที่อื่น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีนายทุนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ใน ต.สหัสขันธ์ถึง 16 ฟาร์ม และขยายเข้าไปในพื้นที่ ต.นามะเขือ โดยส่งกลิ่นเหม็นกระทบสุขภาพชาวบ้าน จนเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ และได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส โดยยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานใด ตัวแทนชาวบ้านจึงได้ล่ารายชื่อเพื่อร่วมกันร้องทุกข์กล่าวโทษนายทุนและผู้เลี้ยงหมู โดยได้ไปแจ้งความไว้ สภ.สหัสขันธ์แล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หลังจากที่เคยร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ 1 ครั้ง และ อบต.สหัสขันธ์ 1 ครั้ง เพื่อขอพึ่งหน่วยงานภาครัฐและกระบวนการยุติธรรม ในการพิจารณาโทษนายทุนและผู้เลี้ยงหมูตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกรณีนี้เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ชาวบ้านเคยร้องทุกข์กับผู้ใหญ่บ้านและนายทุน รวมทั้งทางอำเภอ เพื่อให้เข้ามาแก้ไข แต่เหมือนไม่มีใครให้ความสนใจจึงอยากให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เข้ามาตรวจสภาพอากาศ สาธารณสุขเข้ามาดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม เข้ามาดูในส่วนของการให้ใบอนุญาต รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม ได้ลงพื้นที่ประสานกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน เอาผิดและเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพด้วย ทั้งนี้ ในส่วนฟาร์มเลี้ยงหมูที่เป็นต้นเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็นดังกล่าว หากมองด้วยตาเปล่าเหมือนจะไม่มีอะไร แต่หากดมกลิ่นดูแล้วจะรู้ว่ามีพิษภัยต่อสุขภาพของชาวบ้านเป็นอย่างมาก - 003