สก.ลาดกระบัง ขอกทม.เอาจริง เพิ่มโทษเจ้าของที่รกร้าง ต้นเหตุไฟไหม้หญ้าขยะ ข้อมูล สปภ.สถิติปี’66 4 เดือน 1,321 ครั้ง เขตตะวันออกสูง
ดร.สุรจิตต์ พงษ์สิงวิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตลาดกระบัง เปิดเผยถึงกรณีการเผาหญ้าและขยะในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยเฉพาะพื้นที่รกร้างว่างเปล่ายังคงพบต่อเนื่องวันละ 4-5 จุด ว่า ขณะนี้ยังคงได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับเหตุไฟไหม้ในพื้นที่ลาดกระบังอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงถึงแม้ตนจะได้อภิปรายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 โดยครั้งนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้ร่วมประชุมรับทราบปัญหาและให้คำมั่นว่าจะเร่งแก้ไขแล้วก็ตาม
ล่าสุดเหตุไฟไหม้ได้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกิดอาการ HeatStroke เนื่องจากอุณหภูมิในสถานที่เกิดเหตุสูงมากประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้ต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร่งด่วน ถึงแม้ขณะนี้เจ้าหน้าที่จะปลอดภัยแล้ว แต่เหตุการณ์ไฟไหม้ยังคงส่งผลต่อประชาชน เด็ก ผู้สูงอายุ คนตั้งครรภ์ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ทั้งในเรื่องควันพิษ ฝุ่นละออง ความเสี่ยงที่ทรัพย์สินจะได้รับความเสียหาย และความปลอดภัยของผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะสัญจรผ่านไป-มา
“ถึงเวลาที่ กทม.ต้องกวดขันให้เจ้าของที่ดินรกร้างต้องมีส่วนรับผิดชอบในความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และต้องรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นกับประชาชนส่วนรวม ไม่แตกต่างจากผู้ที่ทำการเผา เนื่องจากหลายครั้งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้เผาขยะหรือเผาหญ้าได้ในที่เกิดเหตุหรือจับได้แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอหรือมีเบาะแสว่าผู้ที่กระทำเป็นเจ้าของที่ดินเอง เพื่อเป็นการป้องปรามปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงขอให้กทม.ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับ และบังคับใช้กับเจ้าของหรือผู้ที่ครอบครองที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างมีหญ้าหรือขยะในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน ให้ล้อมรั้วเพื่อป้องกันเหตุในพื้นที่และปรับสภาพไม่ให้มีผู้ลักลอบมาทิ้งและเผาขยะ ซึ่งการเพิ่มโทษทั้งจำและปรับสำหรับเจ้าของที่ดินซึ่งปล่อยปละละเลยไม่ดูแลพื้นที่ของตนเอง จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ทำให้เกิดความเกรงกลัวในการกระทำผิด” สก.ลาดกระบัง กล่าว
นอกจากนี้ เกษตรกรที่ขาดความเข้าใจในผลเสียของการเผาในที่โล่งและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมส่วนรวม จะทำให้มาตรการการขอความร่วมมือและการรณรงค์ของภาครัฐไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรการใช้กลไกทางกฎหมายเข้าควบคุมการเผา โดยพิจารณาจากพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ที่ทำการเผาทั้งที่ตั้งใจและจากความประมาทเกิดความเกรงกลัวและไม่กระทำผิดอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) สถิติเพลิงไหม้หญ้าขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 (มกราคม-เมษายน) รวม 50 เขตทั้งสิ้น 1,312 ครั้ง แยกเป็น เดือนมกราคม 341 ครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ 201 ครั้ง เดือนมีนาคม 370 ครั้ง และเดือนเมษายน 400 ครั้ง เขตที่มีเหตุไฟไหม้หญ้าขยะสูงส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เขตชั้นนอก โดย 5 เขตที่สถิติสูงสุด คือ เขตหนองจอก รวม 265 ครั้ง, เขตลาดกระบัง รวม 168 ครั้ง, เขตคลองสามวา รวม 124 ครั้ง, เขตมีนบุรี รวม 89 ครั้ง และเขตประเวศ รวม 63 ครั้ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี