ปลัด มท.นำประชุมอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบูรณาการภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพพลามัยที่ดี มีจิตใจเข้มแข็ง เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประเด็นการพัฒนาที่ 2 การส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นางสาววนิดา พันธ์สะอาด รองอธิบดีกรมพลศึกษา นางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายส่งเสริมกีฬา นางบงกชรัตน์ โมลี ผู้อำนวยการกองนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ นายก้องภพ โพธิสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาภูมิภาค การกีฬาแห่งประเทศไทย พลเอก สุรชาติ จิตต์แจ้ง นายกสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย นางสาวเพียรจิตร สิงหโทราช ที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 และผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร กรมบัญชีกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา Park Run Thailand และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้ทำหน้าดูแลพี่น้องประชาชนทั้ง 76 จังหวัด ใน 878 อำเภอ และกรุงเทพมหานคร โดยขับเคลื่อนแนวทางการทำงานด้วยนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนด้วยการส่งเสริมการออกกำลังกายที่เรายึดถือเป็นเรื่องที่ได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการออกกำลังกายนั้นจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (endorphin) เกิดความผ่อนคลาย มีจิตใจเบิกบาน สามารถทำภารกิจส่วนตัว ภารกิจส่วนรวม และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงมหาดไทย คือ “การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะกระทรวงมหาดไทยเราให้ความสำคัญกับ "คน" เพราะคนที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง จะมีความสุข และสามารถพัฒนาในทุกด้านอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย เราจึงต้องทำหน้าที่บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้ทุกคนหันมาออกกำลังกายให้เป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรมของชุมชน และเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้คน
“คณะอนุกรรมการประเด็นการพัฒนาที่ 2 การส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิตจึงมีความสำคัญ ดังนั้น การประชุมในวันนี้จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่คณะกรรมการฯ ทุกท่าน สามารถนำเสนอแนวทางเพื่อส่งต่อแนวทางซึ่งถือเป็นการ Change for Good ให้กับผู้นำในระดับจังหวัดในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกส่วนราชการในการดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนหรือประชาชนในพื้นที่มีการรวมกลุ่มออกกำลังกาย ด้วยการเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ลงพื้นที่ไปส่งเสริมให้ประชาชนได้หันมาออกกำลังกายและส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม เพราะผู้ว่าราชการจังหวัด คือผู้ทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรีของจังหวัด” และนายอำเภอ คือผู้ทำหน้าที่ “นายกรัฐมนตรีของอำเภอ” ที่จะต้องเป็นผู้นำการบูรณาการส่วนราชการในพื้นที่ ขณะเดียวกันต้องเป็นผู้นำการลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดีให้กับพื้นที่ ให้กับสุขภาพพลานามัยของพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัย ทุกครอบครัว ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ และทั้งจังหวัด อันจะเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิตได้ “ทุกคนจึงต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุน พร้อมกระตุ้นผลักดันให้คนทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพในชาติของเรามาออกกำลังกายให้เป็นวิถีชีวิตประจำวัน”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหน่วยงานอื่นในการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต เนื่องด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนในด้านการส่งเสริมกีฬา และการส่งเสริมการพัฒนาประชาชนทุกช่วงวัย อีกทั้งมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการโอนถ่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือในด้านการส่งเสริมพัฒนานักกีฬาหลากหลายด้าน โดย “กีฬามวลชน” ก็เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นโอกาสของประชาชนที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพได้ ซึ่งในภาพรวมของจังหวัดมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องเป็น Single Command ในการบัญชาการเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีต้นไม้ร้อยเชือก กระดานลื่น หน้าผาจำลอง จำลองเพื่อฝึกความกล้าหาญ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเติบโตอย่างเห็นคุณประโยชน์ของการออกกำลังกาย กีฬามวลชนอาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นหลัก แต่จะเป็นรากฐานให้เกิดนักกีฬาอาชีพในอนาคตได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า การจัดกิจกรรม event เพื่อส่งเสริมกีฬาก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สำคัญแต่ต้องไม่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศมากเกินไป ให้เป็นเพียงสารตั้งต้น โดยต้องส่งเสริมให้คนมีวินัย มีวัฒนธรรมในการออกกำลังกายตามรูปแบบที่เหมาะสมของแต่ละคน เช่น การเดินวิ่ง กายบริหาร หรืออื่น ๆ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการต้องช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมให้พื้นที่ทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้านในจังหวัดมีสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย ที่อาจไม่ต้องเป็นสนามกีฬาเพื่อการแข่งขัน แต่เป็นป่าชุมชนในชุมชนที่อาจดัดแปลงให้เป็นที่เดิน-วิ่ง ออกกำลังกาย มีลานวัด มีต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา มีบรรยากาศที่ดีเหมาะแก่การเป็นสถานออกกำลังกายที่ให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายทั้งเช้าและเย็น ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการส่งเสริมและพัฒนาการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต ทำให้พี่น้องประชาชนได้หันมาออกกำลังกายเพื่อทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีสุขภาพพลามัยที่ดี มีจิตใจเข้มแข็ง และมีความสุขอย่างยั่งยืน
นางสาวเพียรจิต สิงหโทราช ที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7 กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ต้องการเห็นคนไทยทั้งประเทศมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 มีการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประเทศไทยในปัจจุบัน และในอนาคต รวมถึงยุค New Normal ซึ่งแม้คำว่า “กีฬา” จะมีความหมายไม่แตกต่างจากในอดีต ที่มีทั้งกีฬาพื้นฐานเด็กและเยาวชน กีฬามวลชน กีฬาทุกช่วงวัย ต่อยอดไปสู่กีฬาอาชีพและกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ รวมทั้งอุตสาหกรรมการกีฬาซึ่งเป็นปลายน้ำ ประเด็นสำคัญในวันนี้จะเป็นการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตไปสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนอนาคต โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อน
“การที่กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแลกีฬาเพื่อมวลชนให้เป็นวิถีชีวิต สืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่มีองคาพยพด้านการบริหารราชการแผ่นดินใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด และเป็นหน่วยบูรณาการนโยบายในระดับพื้นที่ ตั้งแต่แผนระดับหมู่บ้าน แผนระดับอำเภอ และแผนพัฒนาจังหวัด ภายใต้การนำและบูรณาการของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้มีทั้ง “การพัฒนา Hardware” คือ โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สนับสนุนกีฬาเพื่อมวลชนให้พัฒนาไปได้ “การพัฒนาด้าน Software” คือ กิจกรรมการกีฬาต่างๆ ที่ทำอยู่แล้วจัดทำให้เป็นกิจจะลักษณะด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย และ “การพัฒนา Peopleware” คือ การพัฒนาบุคลากรร่วมกับทุกภาคส่วน ช่วยส่งเสริมและพัฒนากีฬาตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการออกกำลังกายและนันทนาการเพื่อมวลชน ซึ่งหากแผนพัฒนากีฬาได้รับการบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด ก็จะเป็นหลักที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีแผนพัฒนากีฬาในระดับท้องถิ่นที่จะไปขับเคลื่อนผลักดันให้ประชาชนเกิดการออกกำลังกาย วันละ 30 นาที ไม่ต่ำกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ด้วยวิธีการใดก็ได้เพื่อให้ได้มีการขับเคลื่อนร่างกาย ส่งผลให้ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายที่ดี เกิดการคิดดี ทำดี สังคมดี ประเทศชาติพัฒนา มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นางสาวเพียรจิตฯ กล่าว
ด้าน นางบงกชรัตน์ โมลี ผู้อำนวยการกองนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงแผนการพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับ 1 - 6 ที่ผ่านมา เป้าหมายสูงสุดของแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ คือ การส่งเสริมให้คนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านโครงการแสงนำใจ ไทยทั้งชาติ ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกำลังกาย และเชิญชวนแข่งขันการสะสมจำนวนแคลอรี่ CCC และก้าวท้าใจ ทำให้ทั้งประเทศได้รู้จัก Platform CCC ซึ่งแอปพลิเคชัน CCC และก้าวท้าใจมีประชาชนออกกำลังกายสะสมแคลอรี่ รวมทั้งสิ้นคิดเป็น 91.5 ล้านแคลอรี่ คิดเป็นพลังงานที่ใช้ในการเดินทางหรือวิ่งระยะทาง 1.85 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็นการเดินทางรอบโลก 47 รอบ ซึ่ง Platform CCC ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีความตั้งใจจะทำให้เป็น Platform กลางในการบูรณาการข้อมูลการส่งเสริมการออกกำลังกายของทุกภาคส่วน และได้ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องการขับเคลื่อน Platform CCC ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากจะช่วยให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้ออกกำลังกายเพื่อมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนแล้ว ยังจะช่วยให้นักท่องเที่ยวไปในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมบทบาทในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายให้เกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้าและทุกชุมชน ตลอดจนการสร้างจิตวิญญาณการออกกำลังกายให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี