เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง “คลื่นลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมากฉบับที่ 11 (171/2566)” ระบุว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย สำหรับภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง
และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ในวันเดียวกัน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ระยะนี้ยังมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่ฝนยังไม่ตกกระจาย เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญที่จะส่งผลให้ปริมาณฝนตลอดปี 2566 น้อยกว่าค่าปกติ โดยอุณหภูมิสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 จังหวัด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตรดิตถ์ 39.7 องศาเซลเซียส เพชรบูรณ์และน่าน 39.6 องศาเซลเซียส
ล่าสุดมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น เริ่มมีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณที่ร่องมรสุมพาดผ่าน ปริมาณฝนสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 วัดได้ 135.4 มิลลิเมตร ที่ อ.เมือง จ.หนองคาย ส่วนภาคอื่นๆ รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นจนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 2566 ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความร้อนลงบ้าง แต่ภาคเหนือจะยังมีบางพื้นที่อากาศร้อนถึงร้อนจัด สำหรับภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุม จะมีฝนตกต่อเนื่อง
โดย 10 จังหวัดจะมีฝนตกหนัก ประกอบด้วย ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ดังนั้น ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย ตลอดจนระวังคลื่นลมที่มีกำลังค่อนข้างแรง
“โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง” น.ส.ชมภารี กล่าว
สำหรับการคาดหมายอากาศรายภาค ระหว่างวันที่ 5 – 11 มิ.ย. 2566 ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางด้านตะวันออกของภาค ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม.
ภาคกลาง ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34 – 37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. ภาคตะวันออก ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 25 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 34 องศาเซลเซียส กรุงเทพและปริมณฑล ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 26 – 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 37 องศาเซลเซียส