ไขข้อข้องใจ!สธ.รับ‘หมอ’ขาดแคลน 1 คนดูแล 2 พันคน งานโหลดทุบสถิติ
6 มิถุนายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. แถลงข่าวประเด็น “ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข” ว่า หากดูข้อมูลจากแพทยสภา แพทยสมาคม ปัจจุบันมีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนในระบบประมาณ 5-6 หมื่นคน ในจำนวนนี้อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข 24, 649 คน หรือร้อยละ 48 ในขณะที่ภาระงานของ สธ. ต้องดูแลประชาชน 45 ล้านคน หรือร้อยละ 75-80 ของประชาชนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“สัดส่วนของประเทศไทย แพทย์ 1 คน จะอยู่ต่อประชากร 2,000 คน ในขณะที่ตามมาตรฐานโลก ควรมีแพทย์ 3 คนต่อประชากร 1,000 คน หากเทียบกับประเทศอังกฤษซึ่งมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย และยังเป็นต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อังกฤษมีสัดส่วนแพทย์ 3 คนต่อประชากร 1,000 คน คิดเป็นจำนวนแพทย์ในอังกฤษจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนคน ขณะที่ในไทยมีแพทย์ทำงานประมาณ 1.9-2 หมื่นคน และแม้จะเพิ่มเป็น 3.3-3.5 หมื่นคนตามเป้าหมายที่ไทยวางไว้ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งดูแลในส่วนของมหาวิทยาลัย ได้เสนอกับรัฐบาลตั้งแต่ปี 2561 ว่าจะวางแผนผลิตแพทย์เพิ่มให้ได้เฉลี่ยปีละ 3 พันกว่าคน ดังนั้นหากวางแผนไปถึงปี 2570 ประเทศไทยน่าจะมีแพทย์ 3.3 หมื่นคน แต่เป้าหมายนี้ สธ. เองก็ต้องไปช่วยในการผลิตแพทย์ด้วยประมาณ 1 ใน 3 แต่เมื่อได้แพทย์มาแล้ว จะมีคณะกรรมการในการกระจายแพทย์ไปตามหน่วยงาน เช่น กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร (กทม.) มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นการแบ่งทรัพยากรที่มีจำกัดนี้ออกไป ไม่ใช่มีแต่ สธ. เพียงหน่วยเดียว
“คณะแพทย์ 20 กว่าแห่งจะมาเป็นคณะกรรมการกับเรา จะมีสูตรที่ตกลงกันมาหลายสิบปี ก็ใช้ก็ปรับกันมาเรื่อยๆ ผมเอาตัวอย่างที่จบปี 2565 แล้วมาจัดสรรกันปี 2566 จบมา 2,759 คน อันนี้ไม่รวมเอกชนและที่จบจากต่างประเทศ เราต้องมาแบ่ง ลบ ก. ลบ ข. ลบ ค. ลบ ง. อันแรกไปเป็นอาจารย์แพทย์พรีคลินิก ลบอาจารย์แพทย์โรงเรียนเปิดใหม่ ไปละคณะแพทย์ที่อยู่ในภูมิภาคถึง 69 แห่ง ลบๆ มามันเหลือออยู่ 2 ส่วน คือสาธารณสุขกับกลาโหม ไม่ใช่ของเราคนเดียวต้องแบ่งให้กลาโหมอีก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่ สธ. ของกำลังพลแพทย์ 2,061 คน แต่ได้มา 1,960 คน ในขณะที่การศึกษาเพื่อหาจำนวนแพทย์ที่เพียงพอของ สธ. จะอยู่ที่ 2,055 คนต่อปี แต่ได้จริงอยู่ที่ประมาณ 1,800-2,000 คนต่อปี เป้าหมายของ สธ. จึงเป็นไปได้ยากเพราะมีหน่วยงานอื่นได้รับการจัดสรรอัตรากำลังพลแพทย์ไปก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ภาระงานของ สธ. ที่มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งตนก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไม่เฉพาะแต่แพทย์ที่ช่วยกันทำงานนี้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ เส้นทางของแพทย์ 1 คน จะใช้เวลาเรียน 6 ปี จากนั้นเข้าสู่ช่วงใช้ทุน โดยการใช้ทุนปีที่ 1 หรืออินเทิร์น (Intern) สืบเนื่องจากทางแพทยสภากำหนดให้ต้องมีการเพิ่มพูนทักษะเป็นเวลา 1 ปี ในการได้เจอเคสผู้ป่วยแบบต่างๆ จากเดิมในอดีตที่เรียนจบแพทย์ 6 ปีทำงานได้เลย แต่เกณฑ์ปัจจุบันจะนับการอินเทิร์นเป็นปีที่ 7 เพราะจากการประเมินพบว่าการเรียนเพียง 6 ปีทักษะยังไม่เพียงพอ โดยปีที่ 7 นั้นจะอยู่ในการดูแลของ สธ. เท่ากับว่าทาง สธ. ก็ต้องสอนแพทย์ใหม่เหล่านี้ด้วย
ส่วนประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากคือภาระงานที่หนักของแพทย์ ต้องยอมรับว่าไทยไม่เหมือนต่างประเทศ เนื่องจากในไทยนั้นประชาชนสามารถพบแพทย์ได้ง่ายกว่ามาก โดย สธ. ก็รับนโยบายนี้มาตลอด จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น อาทิ ก่อนวันที่ 30 พ.ย. 2565 เคยมีการประเมินพบว่า มีโรงพยาบาล 9 แห่ง จากทั้งหมด 117 แห่ง ที่แพทย์ต้องทำงานเกิน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นอกจากนั้นยังมีโรงพยาบาล 4 แห่งที่ทำงานเกิน 59 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 11 แห่งที่มากกว่า 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 18 แห่งมากกว่า 46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 23 แห่งมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานโลกซึ่งระบุว่าไม่ควรทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นมาตรฐานที่ออกมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งชาติเหล่านั้นมีจำนวนแพทย์เป็นหลักแสนคน ซึ่งมากกว่าจำนวนแพทย์ในไทยมากมาย แต่ก็จะพยายามฝึกอบรมแพทย์เพิ่มเข้าไปในระบบให้ได้มากกว่านี้ โดย สธ. ไม่ต้องการลดคุณภาพการให้บริการเพราะจะกระทบกับประชาชน
สำหรับการที่ประชาชนพบแพทย์ได้ง่ายก็มี 2 มุม เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 มีการจัดบริการและให้ความรู้กับประชาชนเรื่องโรคมากขึ้นเพื่อควบคุมโรค ความต้องการการดูแลรักษาจึงมากขึ้น มุมหนึ่งคือหากป่วยจริงแพทย์ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่อีกมุมหนึ่งหากเป็นการวิตกกังวลเกินเหตุก็จะเห็นอย่างที่มีการมานอนเตียงโดยไม่จำเป็นต้องนอน อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถบอกได้ว่าใครควรหรือไม่ควรมาโรงพยาบาล ในเมื่อได้ให้ความรู้ไปแล้ว ตรงนี้จึงเป็นความยากและละเอียดอ่อน
“ต้นแบบของประเทศอื่นๆ เขาจัดลำดับขั้น กว่าจะมาถึงแพทย์ได้ ผมก็เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ ก็ถามคนที่เขาใช้หลักประกันสุขภาพของประเทศเขา เขาบอกเป็นหวัดเป็นน้ำมูกถ้าจะต้องไปหาแพทย์ ยืนยันว่าจะพบก็ต้องจ่ายเอง 100 ยูโร ถึงจะได้พบแพทย์ การมีขั้นตอนต่างๆ ทำให้เขาก็รอไป แต่บางคนก็บอกรอไมได้ มันเจ็บคอมาก มีไข้ มีไอ ถ้าภาระนี้ตรงกันกับแพทย์ แพทย์ก็จะต้องให้เข้ามา แต่ถ้าไม่ตรงกันก็มีคนสกรีนให้ก่อน ก็จะไม่ได้เข้าพบแพทย์ แต่ของเราไม่เลย ของเราสามารถเข้าได้ก่อน” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
รองปลัด สธ. ยังกล่าวอีกว่า แต่การเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์ก็ยังต้องรักษาสมดุลระหว่างปริมาณกับคุณภาพด้วย โดยทางแพทยสภากำหนดมาตรฐานคุณภาพแพทย์ไว้สูง ดังนั้นบุคคลที่เรียนจบมาก็ต้องได้มาตรฐานตามนั้น เพราะเป็นการประกันคุณภาพให้กับชีวิตของประชาชน ขณะที่การจัดสรรกำลังพลแพทย์ระหว่าง สธ. กับหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมาการพูดคุยเป็นไปด้วยดี หลายหน่วยงานชี้ให้เห็นความจำเป็น แต่หลายหน่วยงานเมื่อพูดคุยกันแล้วมีเพียงพอก็ขอไม่รับการจัดสรรก็ได้ อย่างโรงเรียนแพทย์บางแห่งอยู่ต่างจังหวัดเขาก็มีภาระงานมากเช่นกัน
ด้าน พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของภาระงานด้านแอกสารของแพทย์ เข้าใจว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนระบบไปสู่การไม่ต้องใช้เอกสารกระดาษ (Paperless) ซึ่งก็มีบางแห่งทำได้ทั้งหมดแต่บางแห่งก็ทำได้บางส่วน แต่รายละเอียดในเวชระเบียนนั้นมีมาก ดังนั้นคนที่ไม่คุ้นกับระบบหรือมีจำนวนคนไข้มาก แพทย์จบใหม่จึงต้องรับผิดชอบในส่วนนั้น
“ก็เข้าใจว่ามีน้องบางคนช่วงแรกๆ ในปีที่ผ่านมา ก็จะบ่นนิดหนึ่งว่าทำไมเยอะ ทำอะไรไม่ทัน แต่คิดว่าเขาก็จะมีพัฒนาการแล้วก็ทำงานได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นงานเอกสารในส่วนของเวชระเบียนนั้นมีความสำคัญสำหรับการเก็บข้อมูลแพทย์ ผ่านไปในเรื่องของการเคลมด้วยนะ การเคลมเงินของหลักประกันสุขภาพอะไรต่างๆ อันนี้มีความสำคัญ” พญ.พิมพ์เพชร กล่าว
ขณะที่ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จ.แพร่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งไปร่วมฟังการแภลงข่าวด้วย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การผลิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่การผลิตครูแพทย์ก็ยิ่งยากกว่า ดังนั้นการตั้งเป้าหมายผลิตแพทย์ให้รวดเร็วเหมือนการผลิตบุคลากรในสาขาอื่นๆ จึงไม่สามารถทำได้ทันที แต่ในฐานะที่กำลังจะเป็น ส.ส. และกำลังจะเป็นรัฐบาล ก็จะไปผลักดันเรื่องเพิ่มการผลิตแพทย์อย่างมีคุณภาพ แต่อีกด้านหนึ่งที่อยากเน้นคือการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค
“ส่วนมากเราจะคุยกันถึงหมอที่เก่งๆ หมอรักษาโรคหัวใจเก่งๆ ผ่าตัดสมองเก่งๆ แต่เราไม่ค่อยยกย่อง ไม่ค่อยชมหมอที่ทำงานด้านป้องกัน ด้านส่งเสริมสุขภาพเก่งๆ รวมทั้งนโยบายที่ผ่านมาของกระทรวงก็อาจจะให้ความสำคัญอันนี้อาจจะน้อยไปสักนิดหนึ่ง ถ้าเราป้องกันสุขภาพให้ดีขึ้น ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น คนเจ็บป่วยก็จะน้อยลง ภาระงานที่หนักของหมอก็น่าจะลดลงไปด้วย อันนี้ก็เป็นนโยบายหนึ่งที่ผมคิดว่าจะต้องทำ” นพ.ทศพร กล่าว
-005