เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมนัดหารือกับ สปสช.ในประเด็นเรื่องภาระงานของแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมากจากการให้บริการ ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช.ดูแลอยู่เพื่อให้ประชาชนไทยกว่า 48 ล้านคนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขตามสิทธินั้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในวิชาชีพอื่นๆ มีภาระงานเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา สปสช.มีการบริหารจัดการและมีนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ โดยใช้ไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เพื่อลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หลายแนวทาง
ทั้งนี้ สปสช.ได้เตรียม 5 แนวทางในการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไว้ดังนี้ 1.เสนอยกเลิกการคีย์ข้อมูลหรือบันทึกข้อมูลในระบบเพื่อการเบิกจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์กับ สปสช. โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และสามารถดำเนินการได้ทันทีหากโรงพยาบาลมีความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบกับ สปสช. โดยจะเป็นการเชื่อมโยง API (Application Programming Interface) หรือการเชื่อมต่อระบบของทางโรงพยาบาลโดยตรง ทั้งนี้การบันทึกข้อมูลในระบบนั้นมีประโยชน์ในการตรวจสอบการเบิกจ่าย การนำข้อมูลมาใช้วางแผนเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ
2.เสนอให้ สายด่วน สปสช. 1330 ช่วยกระจายผู้ป่วยใน (IPD) ที่รอเตียงเพื่อการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลและอาจจะสร้างความกดดันให้กับแพทย์ได้ ซึ่งบริการนี้ สปสช.ได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้มีเตียงจากโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เข้ามาเป็นสถานพยาบาลกรณีเหตุสมควรตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สำรองประมาณ 600 เตียงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในส่วนของต่างจังหวัดนั้น หากข้อเสนอนี้ผ่านการหารือและตกลงร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข สายด่วน สปสช. 1330 ก็จะทำหน้าที่กระจายผู้ป่วยในที่รอเตียงได้ได้ด้วย โดยกระจายไปยังโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลเอกชนที่มีเตียงว่าง
3.ผลักดันนวัตกรรมบริการเพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยความร่วมมือกับหน่วยบริการต่างๆ ทั้งนี้ สปสช.ตั้งเป้าว่านวัตกรรมบริการสุขภาพวิถีใหม่นี้จะช่วยลดการมาโรงพยาบาลได้ร้อยละ 30 หรือ 60 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล บริการบางรายการที่สามารถทำนอกโรงพยาบาลได้และมีหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ได้แก่ เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาที่ร้านพร้อมรับคำปรึกษาจากเภสัชกร ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าให้บริการผู้ป่วยไปแล้วว่า 1.4 แสนรายคิดเป็นจำนวนรับบริการกว่า 2.02 แสนครั้ง
นอกจากนั้น ยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน, จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์, เจาะเลือดหรือตรวจแล็บใกล้บ้าน, กายภาพบำบัดที่คลินิกกายภาพบำบัด, บริการพยาบาลพื้นฐาน เช่นการทำแผลชนิดต่างๆ ที่คลินิกการพยาบาล, บริการแพทย์แผนไทย, บริการสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine), บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS), บริการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) และบริการเคมีบำบัดที่บ้านในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Home Chemotherapy)
4.สนับสนุนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ คือ เป็น emergency room ไม่ใช่ everything room ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลจัดแยกบริการเป็น 2 ส่วน คือ “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) มีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางการจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
และ “ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน” เป็นบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควรและกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ ซึ่งต้องมีห้องเพื่อบริการที่แยกจากห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้มีหน่วยบริการ 129 แห่ง ได้ดำเนินการตามแนวทาง “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” ซึ่งเป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ฉุกเฉินเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีมีเหตุสมควร หรือผู้เจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ มีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาที่หน่วยบริการตามที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
5.ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองหรือ self care โดย สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถไปรับยาที่ร้านยาได้ หรือหากอยู่ในกรุงเทพฯ ใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือพบหมอออนไลน์พร้อมจัดส่งยาถึงบ้านกับแอปพลิเคชันสุขภาพ 4 แห่งที่เข้าร่วม ซึ่งเป็นการดูแลตนเองโดยไม่จำเป็นต้องไปที่โรงพยาบาล นอกจากนั้น สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการยังแจกถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Test รวมถึงชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง “HPV DNA Self Collection” ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
“ทั้ง 5 แนวทางนี้ สปสช.ได้เตรียมหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ สปสช.ตั้งเป้าว่าจะช่วยลดภาระงานของแพทย์และบุคลากรลงได้ ทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเบื้องต้นหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็วขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะที่แพทย์ก็ได้ลดภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรคเบื้องต้นที่เป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ก็จะมีเวลาให้กับการรักษาผู้ป่วยในเคสที่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ในส่วนของการคีย์ข้อมูล ก็ใช้ระบบเดียวกับของโรงพยาบาล โดย สปสช.ไปเชื่อมต่อเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลการเบิกจ่ายต่อไป” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี