นายกฯ สั่งเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจาก “เอลนีโญ” จี้ทำงานเชิงรุกทุกหน่วยงานปรับการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องสภาพอากาศ ด้าน กรมอุตุฯคาดเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ กรกฎาคมนี้ ไทยยังมีฝนถึง 11 มิถุนายนนี้ เตือน 38 จว.ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ อย่างใกล้ชิด โดยหน่วยงานภาครัฐมีการบูรณาการทำงานร่วมกันในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามผลการดำเนินตามมาตรการรับมือฤดูแล้ง และหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ รวมทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เตรียมแผนปฏิบัติการรองรับก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ประชุมหารือวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง พร้อมวางแนวทางรับมือฤดูฝนปี 2566 โดยติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2565/2566 และปฏิบัติตาม 12 มาตรการฤดูฝนปี 2566 รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัย ผ่านการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยจะกำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการขยายแหล่งน้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ พร้อมกำชับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รับฟังปัญหา และความต้องการของประชาชน โดยรวบรวมข้อมูล จัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม พร้อมทั้งแสวงหาแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อจัดสรรกระจายการใช้น้ำอย่างทั่วถึง
“นายกฯ วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งถึงก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ประชุมหารือ วางแนวทาง รวมทั้งรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อนำมารวบรวม ประเมิน และปรับปรุง การบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง” นายอนุชา กล่าว
ด้าน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ปริมาณฝนจะลดลง โดยจะยังคงตกบริเวณภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขณะที่มวลอากาศเย็นซีกโลกใต้แผ่ขึ้นมาปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ฝนภาคใต้ลดลงเช่นกัน จากการประเมินปริมาณฝนที่ตกช่วงต้นฤดูบริเวณลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่างและกลาง พบว่าน้อยกว่าปี 2565 และน้อยกว่าค่าปกติ จึงอาจทำให้บางพื้นที่ของตอนกลางประเทศมีน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 19 เรื่อง คลื่นลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมาก (มีผลกระทบถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2566) มีใจความว่า ร่องมรสุมพาดผ่านหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งที่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่งที่ จ.ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งที่ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งที่ จ.ระนอง และพังงา ตั้งแต่ จ.ภูเก็ต ขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ตั้งแต่ จ.กระบี่ ลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่ฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร