จากกรณีหญิงลูกจ้างร้านขายน้ำเต้าหู้หน้า สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน ถูกทำร้ายร่างกายจนแท้งลูก ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ได้เดินทางมาติดตามคดีดังกล่าวและได้พบความจริงหลังได้พบกับหญิงผู้ถูกทำร้ายโดยผู้เสียหายยืนยันว่า ถูกทำร้ายจนแท้งลูกจริงไม่ได้ตั้งใจเอาเด็กออกตามที่เป็นข่าวหวั่นคดีถูกบิดเบือนช่วยคนทำผิด
จากกรณีเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ได้เดินทางไปพบกับนางหอม ไม่มีชื่อสกุล อายุ 31 ปี ชาวบ้านตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลูกจ้างร้านขายน้ำเต้าหู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ปัจจุบันอยู่ในการคุ้มครองของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้พบปะกับนางหอม ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวฯ ซึ่งการพบปะกันนั้นนางหอม ได้เล่าข้อเท็จจริงให้แก่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่า ตนถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายด้วยการเตะถีบ เข้าบริเวณหน้าท้อง ทั้งที่ตนได้บอกว่า ตนอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์แต่นายจ้างก็ยังไม่ยอมหยุด จนทำให้ต้องแท้งบุตร เพราะถ้าหากไม่ทำแท้งก็จะทำให้ตนเสียชีวิตตามไปด้วยและตนไม่ได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า ตนไม่ประสงค์จะมีบุตรและต้องการเอาบุตรออกแต่อย่างใด ซึ่งตนขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวด้วย
ก่อนหน้านั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เป็นประธานในการประชุมที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้ชี้แจงในเรื่องคดีดังกล่าวว่า ในวันเกิดเหตุได้มีตำรวจของ สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน ไปนั่งดื่มที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งกับผู้ต้องหาและยังได้ตามมาส่งผู้ต้องหามาทำร้ายนางหอม จริง ในส่วนของหญิงที่เป็นพยานอีก 1 คนคือคนที่ไปส่งนางหอม รักษาตัวที่โรงพยาบาล ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ชี้แจงว่าไม่สามารถติดตามตัวได้และยังได้รายงานว่ากรณีการแท้งบุตรของนางหอม ผู้เสียหายไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้าย แต่เป็นความประสงค์ของนางหอม ที่ต้องการเอาบุตรออกเนื่องจากมีบุตรแล้วหลายคน จนทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงแต่ประการใด
จากกรณีคดีของนางหอม ลูกจ้างร้านขายน้ำเต้าหู้ใน จ.แม่ฮ่องสอน พบว่า มีเงื่อนงำที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อนางหอม ถูกทำร้าย ได้มีญาติห่างๆ ของนางหอม รายหนึ่ง ได้เข้ามนำนางหอม ไปส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ โดยอ้างว่า จะเป็นผู้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองแม่ฮ่องสอน ให้เอง แต่มาภายหลังพบว่าหญิงคนดังกล่าวไม่ได้เดินทางไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด จนทำให้นางหอม เข้าใจผิดว่าได้มีการแจ้งความในวันที่ 19 พ.ค.66 แล้วและได้ให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวตามที่เข้าใจ
สำหรับหญิงคนดังกล่าว ซึ่งรับสมอ้างว่าเป็นญาติของนางหอม ต่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล และเป็นผู้นำเอกสารการวินิจฉัยของแพทย์ในการรักษาไปเก็บไว้เอง ซึ่งจนถึงปัจจุบันทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า ไม่สามารถติดต่อหญิงคนดังกล่าวได้ ซึ่งถือเป็นพยานสำคัญในคดีดังกล่าวและมีการบิดเบือนข้อมูลการรักษาอาการของแพทย์ ที่สำคัญเมื่อญาติคนอื่นๆ ของนางหอม ไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดา ของสามีนางหอม รวมไปถึงตัวสามีของนางหอม ด้วยที่ได้พยายามจะไปเยี่ยมอาการของนางหอม ที่โรงพยาบาลดังกล่าว แต่ได้ถูกหญิงคนดังกล่าวอ้างว่า แพทย์ห้ามเยี่ยมอาการจะเยี่ยมได้เฉพาะตนเท่านั้นที่เป็นคนนำนางหอมฯมารักษาตัว
สำหรับกรณีคดีของนางหอม พบว่า เป็นที่สนใจขององค์กรเอกชนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิสตรีและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเข้าข่ายการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) จนยากที่จะรับได้โดยพบว่าหน่วยงานองค์กรเอกชนต่างๆ ได้ประสานมาขอข้อมูลที่เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รวมไปถึงหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ที่เกี่ยวข้องกับเทียร์อีกด้วย - 003