‘ชัชชาติ’แถลงใช้ AI จับ‘มอเตอร์ไซค์’ขี่บนทางเท้า นำร่องแล้ว 5 จุด จับรถจอดผิดที่ 3 จุด เตรียมเพิ่มทั่วกรุงอีก 100 จุด สถิติ 12-20 มิ.ย. ‘ซอยเสือใหญ่’มากสุด 2,921 ครั้ง
21 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องปรามขับขี่บนทางเท้า” โดยการใช้ระบบ AI ในการตรวจจับการกระทำความผิด มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตรสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลง ณ ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการจราจรกรุงเทพมหานคร (ห้องCCTV) ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)
นายชัชชาติ กล่าวว่า การทำผิดกฎจราจรมี 2 รูปแบบ คือ ในส่วนของตำรวจจราจรเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรฯ เช่น จอดผิดที่ ฝ่าไฟแดง ไม่จอดทางม้าลาย ขณะที่ การขับขี่บนทางเท้า จะใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ โดย กทม.เป็นผู้จับ-ปรับ ทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับผู้กระทำผิดได้ ซึ่งคนเดินเท้าในประเทศไทยมีอุบัติเหตุเยอะโดยเฉพาะใน กทม. เฉลี่ยปีละ 900 ราย กรณีบนทางเท้าจะเจอประจำที่ขี่ไปเฉี่ยวคนมีการทะเลาะกัน กทม.ต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายต่อไปต้องเข้มข้นในเรื่องนี้มากขึ้น วิธีที่เราจะทำคือใช้เทคโนโลยี AI Software เข้ามาตรวจจับ โดยใช้กล้อง CCTV และโครงข่ายไฟเบอร์ที่มีอยู่แล้ว เพิ่มในส่วนเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพ
นายชัชชาติ ระบุว่า ปัจจุบันเราใช้กำลังคนเจ้าหน้าที่เทศกิจในการจับ-ปรับผู้กระทำผิด ตั้งแต่ 1 -20 มิ.ย. จับไปแล้ว 799 ราย เปรียบเทียบปรับไป 771 ราย ตักเตือน 28 ราย ก็ดีในแง่เมื่อมีเจ้าหน้าที่อยู่ก็จะขึ้นทางเท้าน้อย แต่ก็เปลืองกำลังคน การใช้ AI Software ก็จะช่วยลดทรัพยากรกำลังคนโปร่งใสมีหลักฐาน และข้อมูลแม่นยำใช้ไปขยายผลพัฒนาต่อได้ และเชื่อว่าจะสร้างจิตสำนึกได้ดีขึ้น เพราะจะไม่รู้ว่ากล้องติดอยู่ที่ไหน โดย AI จะเชื่อมข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก และสำนักเทศกิจส่งหนังสือแจ้ง ไปให้เจ้าของทะเบียนรถ ไปชำระค่าปรับที่สำนักงานเขต ภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันทดลอง 5 จุดนำร่อง คือ 1.ปากซอยรัชดาภิเษก 36 หรือซอยเสือใหญ่อุทิศ มีสถิติจักรยานยนต์ขับขึ้นทางเท้า 2,921 ครั้ง 2.ซอยเพชรเกษม 28 มี 1,338 ครั้ง 3.หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ มี 619 ครั้ง 4.ปากซอยเพชรบุรี 9 มี 49 ครั้ง และ 5.บริเวณปั๊ม ปตท. เทพารักษ์ 9 ครั้ง โดยเป็นข้อมูลตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 20 มิถุนายนที่ผ่านมา และสำหรับสถิติรถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนวิ่งขึ้นทางเท้า มีรวม 2,990 ครั้ง จัดประเภทเป็นรถจักรยานยนต์ทั่วไป 1,884 ครั้ง วินมอเตอร์ไซค์ 592 ครั้ง นอกจากนั้นจะเป็นไรเดอร์ที่ส่งอาหาร ส่งสินค้า และส่งพัสดุ
นอกจากนี้ ยังนำ AI Software มาใช้ในการตรวจจับรถจอดในที่ห้ามจอด ทดลองใน 3 จุดนำร่อง คือ เซ็นทรัลเวิลด์ (3จุด) ประตูน้ำ และ นานา โดยจับรถที่จอดนิ่งเกิน 5 นาที ส่งข้อมูลให้ตำรวจทาง Line ตำรวจจราจร และห้องส่วนกลางพร้อมรายละเอียดภาพ เพื่อตำนวจออกหมายสั่งจากภาพและกวดขันในจุดที่ฝ่าฝืน
“ปีนี้จะเป็นปีที่เราจะเน้นเรื่องจราจร ใช้เทคโนโลยีมาช่วยจับผู้ขับขี่ทางเท้า ทดลองแล้ว 5 จุด ปรับอัตราสูง 2,000 บาท แนวทางนี้จะเป็นการปรับพฤติกรรมคนให้ดีขึ้น และมีนโยบายจะเพิ่มอีก 100 จุดทั่วกรุงเทพฯในจุดสำคัญที่มีการฝ่าฝืนบ่อยๆ น่าจะใน 2 เดือนนี้ รวมถึงใช้จับการจอดรถผิดที่ด้วย และต่อไปจะขยายไปใช้ในการควบคุมสัญญาณไฟจราจรด้วย ปัจจุบันเรามีไฟจราจร 500 จุดทั่วกรุงเทพฯ หลายจุดควบคุมโดยไม่ได้ดูที่ปริมาณรถ มีการตั้งเวลาในบางแยก ซึ่งบางช่วงไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ถ้าเราใช้กล้องมาดูปริมาณจราจรและปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกันก็จะทำให้ใช้พื้นที่ถนนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาจราจรได้ดีขึ้นด้วย รวมถึงจะคุยกับกรมการขนส่งทางบกในเรื่องการต่อทะเบียนรถ อาจไม่ให้ผู้ทำผิดพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ กรณีนี้ ต่อทะเบียนรวมถึงภาษีป้าย เพราะเป็นผู้ที่ทำอันตรายให้กับคนในเมือง ซึ่งนัดอธิบดีหารือในวันศุกร์นี้ เราเชื่อว่าอนาคตเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง” นายชัชชาติ กล่าว
หลังจากการแถลง นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร นำคณะลงพื้นที่จุดนำร่องบริเวณซอยเสือใหญ่อุทิศ (รัชดาฯ 36) เขตจตุจักร ขณะตรวจจับผู้กระทำผิดได้ทันที...........005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี