WHOเฝ้าระวัง
ไวรัส‘แลงยา’
แพร่แทนโควิด
ผวาระบาดใหญ่
ศูนย์จีโนมฯระบุ องค์การอนามัยโลกห่วงภัยคุกคามโรคติดเชื้อจากไวรัส“แลงยา” เริ่มแพร่ระบาดมาสู่มนุษย์ โดยติดต่อมาจากสัตว์ พบผู้ป่วยครั้งแรกเป็นชาวไร่ในจีน 35 คน เมื่อปี’65 เตือนนานาประเทศ เตรียมพร้อมรับมือ สกัดลุกลามระบาดใหญ่ อาการป่วยคล้ายโควิด-19 คือ มีไข้ ระบบทางเดินหายใจ อักเสบรุนแรงแต่ยังไม่มีรายงานเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุ “ไวรัสแลงยา”เชื้อในกลุ่มไวรัสเฮนิปา ที่อาจมาแทนที่ไวรัสโควิด-19ว่า ขณะที่ภัยคุกคามจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กำลังจะกลายสภาพเป็นโรคประจำฤดูกาล และโรคประจำถิ่นตามลำดับ แต่พบไวรัสกลุ่มใหม่ เฮนิปา (henipavirus) ที่มีลักษณะการระบาดคล้ายโควิดเข้ามาแทนที่
ดร.เอเรียล ไอแซกส์และดร.หยูชางโลว์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงวารสารวิชาการทางการแพทย์ “Nature Communications” เดือนมิถุนายนชี้ให้เห็นว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่เชื้อไวรัสแลงยา ในกลุ่มเฮนิปา (Langyahenipavirusหรือ LayV,) กำลังจะแพร่ระบาดใหญ่ในมนุษย์ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบการระบาดระหว่างคนสู่คน แต่กลับพบการระบาดจากสัตว์สู่คนของไวรัสแลงยาถี่ขึ้นเป็นลำดับ
“ที่สำคัญหากเกิดการกลายพันธุ์เพียงไม่กี่ตำแหน่งบนจีโนมที่ส่งผลให้ส่วนหนามของไวรัสเข้าจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นจะช่วยให้ไวรัสแลงยาก้าวข้ามจากสัตว์มาระบาดในหมู่คนได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับไวรัสโคโรนา 2019 ในอดีต ซึ่งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีเตรียมพร้อมตรวจสอบรหัสพันธุกรรมอย่างรวดเร็ว เพื่อตรวจจับไวรัสแลงยาดังกล่าวจากสิ่งส่งตรวจแล้ว”ศูนย์จีโนมฯระบุ
และว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดว่าภัยคุกคามโรคติดเชื้อที่จะระบาดไปทั่วโลกครั้งต่อไป นอกจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสไข้หวัดนกแล้ว อาจเป็นกลุ่มไวรัสเฮนนิปา อันประกอบไปด้วย ไวรัสแลงยา โม่เจียง (Mòjiāng) นิปาห์ (Nipah) และเฮนดรา (Hendra)
สำหรับไวรัสแลงยานั้น เป็นเชื้อโรคไวรัสติดต่อจากสัตว์มาสู่คน พบครั้งแรกในชาวไร่ 35 คนในมณฑลซานตงและเหอหนานของประเทศจีนในปี 2565 ไวรัสแลงยาจัดอยู่ในตระกูล Paramyxoviridaeเช่นเดียวกับ ไวรัสโม่เจียงไวรัสเฮนดราและไวรัสนิปาห์ ที่ผู้ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงกว่า 70% เป็นไวรัสที่สายจีโนมเป็น“อาร์เอ็นเอ”เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดไข้และอาการระบบทางเดินหายใจอักเสบรุนแรง และอาจนำไปสู่โรคปอดบวมถึงแก่ชีวิตได้ เช่นเดียวกับโควิด-19 โดยไวรัสแลงยานั้น พบการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์ สุนัข แพะ
ทั้งนี้ คาดว่าสัตว์รังโรคดั้งเดิมคือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กคล้ายหนู มีปากยาวแหลม(shrews) แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสแลงยา และยังไม่พบว่าไวรัสชนิดนี้แพร่ติดต่อจากคนสู่คน อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนจากนักวิจัยว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไวรัสแลงยาระบาดมาสู่คน ไวรัสตัวนี้ค่อนข้างใหม่สำหรับมนุษย์ ที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกได้ คล้ายกับไวรัสโคโรนาที่ระบาดในมนุษย์ไปทั่วโลก ขณะนี้ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนสำหรับไวรัสกลุ่มนี้ ซึ่งนักวิจัยกำลังหาวิธีพัฒนาวัคซีนและยารับมือไวรัสแลงยานี้อยู่ และองค์การอนามัยโลกให้เฝ้าติดตามการระบาดในวงกว้าง สืบเนื่องจากคำเตือนของนักวิจัยระบุ ไวรัสเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงที่มีโอกาสควบคุมไม่ได้ หากเราไม่เตรียมพร้อมอย่างเหมาะสม
ส่วนรายงานอาการป่วยของผู้ติดเชื้อไวรัสแลงยานั้น การแพร่เชื้อ สัมผัสกับสัตว์คล้ายหนูขนาดเล็ก มี อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอและอ่อนเพลีย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี