‘ชัชชาติ’ลั่นไร้สาระ‘ทีมชช.’ไม่มีสั่งเปลี่ยนแบบสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ขอสื่อสารถูกต้อง นำเข้าข้อมูลเท็จผิดกฎหมาย พร้อมนำทีมแถลงเหตุถล่มระหว่างก่อสร้าง สั่งเคลียร์พื้นที่เปิดจราจรใน3 วัน ‘วสท.’ช่วยตรวจสอบสาเหตุ ถ้าบริษัทรับเหมาผิดจริงต้องแบล็คลิสต์
11 กรกฎาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงกรณีเหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังในพื้นที่เขตลาดกระบังถล่มวานนี้ มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล และนางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ร่วมชี้แจงข้อมูล ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. (ดินแดง)
นายชัชชาติกล่าวก่อนเริ่มแถลงว่า “ตามที่มีข่าวว่าทีมชัชชาติให้มีการเปลี่ยนแบบ ยืนยันไม่มีประเด็นอะไร เป็นเรื่องไร้สาระ จริงๆแล้วเป็นเรื่องการก่อสร้างปกติ ผู้รับเหมามีการทำที่ล่าช้าได้มีการขอเปลี่ยนวิธีก่อสร้างมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่มีที่เราไปสั่งเปลี่ยนอะไร การสื่อสารอะไรก็ขอให้ดูด้วยความถูกต้องด้วย ถ้านำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จทางออนไลน์ก็มีความผิดตามกฎหมาย
“ผมว่าอย่าไปสร้างความสับสันให้กับสังคม และขอให้เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆที่ออกมาพูด ยืนยันไม่ได้มีเรื่องพวกนี้เลย เป็นขั้นตอนกระบวนการทางวิศวกรรม เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปสั่งให้ทำเสี่ยง”
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยกิจการร่วมค้า ธาราวัญ - นภา ประมูลมาตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ถึง 11 สิงหาคม 2566 วงเงิน 1,664.55 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ 1,665 ล้านบาท เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ความยาวระยะทางรวมประมาณ 3,500 ม. มีการปรับปรุงสะพาน ค.ส.ล. ข้ามคลองหนองปรือ และก่อสร้างระบบระบายน้ำ-ไฟแสงสว่าง และมีโครงการของการไฟฟ้าอีก 200กว่าล้านบาท
เกิดเหตุเมื่อวานนี้(11 ก.ค.) เวลา 17:40 น. บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันปตท. ถนนหลวงแผ่ง เขตลาดกระบัง โครงสร้างสะพาน (Box Segment) วิบัติขณะดึงลวดอัดแรง ส่งผลให้ Launching Truss เสียสมดุล และล้มพับกับ โครงสร้างสะพานพังลงมา มีความเสียหาย 1 ช่วงสะพาน เสาพัง 2 ต้น (Pier84 - Pier83) ชิ้นส่วนสะพาน และ Truss กีดขวางช่องจราจรฝั่งขาเข้าทั้ง 2 ช่องจราจร คนงานชุดปฏิงานดึงลวดอัดแรง 13 คน และชุดปฏิบัติงานติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน 7 คน ได้รับบาดเจ็บ รักษาอยู่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 คน โรงพยาบาลลาดกระบัง 2 คน มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 คน เป็นวิศวกรที่ทำเรื่องดึงลวด และอีก 1 คน เป็นคนงานไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์9 ไม่มีบุคคลทั่วไปได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ทั้งนี้ ตนได้สั่งการตั้งแต่เมื่อคืนแล้วให้เตรียมรื้อถอน โดยให้ผู้รับเหมาเข้ามาดู ดำเนินการรื้อ Truss ด้านบน น้ำหนักประมาณ 7 ตัน 4 ชิ้น และรื้อ Main Truss 2 ชุด แบ่งเป็น ชุดละ 5 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 30 ตัน จากนั้นให้ตรวจสอบโครงสร้าง Box อัดแรง เพื่อเข้าตรวจสอบสาเหตุและวางแผนการรื้อถอน กำหนดเคลียร์พื้นที่เบื้องต้นให้เสร็จใน 3 วัน เพื่อเปิดการจราจร ในส่วนของสาเหตุเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างที่มีความผิดพลาด ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดโดยให้ผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) มาช่วยสำรวจสาเหตุที่เกิดขึ้นจริงๆว่าเกิดจากตำแหน่งไหนเพราะอะไร เรื่องความเสียหายนั้นก็จะมีทางประกันภัยเข้ามาดู ต้องดูไปตามลำดับขั้น ตอนนี้ต้องรีบเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน ส่วนผู้เสียหายก็ดูแลตามระเบียบซึ่งมีบริษัทผู้รับเหมารับผิดชอบอยู่แล้ว
ส่วนประเด็นการเปลี่ยนวิธีก่อสร้างนั้น ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) ชี้แจงว่า ในการประกวดราคาเราใช้เป็นรูปแบบหล่อในพื้นที่ แต่ได้เปิดทีโออาร์ไว้ว่าสามารถใช้รูปแบบหล่อสำเร็จได้ ในช่วงต้นผู้รับจ้างจะใช้รูปแบบหล่อในพื้นที่แต่เป็นวิธีเก่าที่ส่งผลกระทบการจราจรและใช้เวลานาน ประกอบกับการก่อสร้างล่าช้ามาจากช่วงการระบาดโควิดปี 2564 ที่ต้องหยุดก่อสร้างไป บริษัทจึงได้ขอเปลี่ยนรูปแบบเองเมื่อตุลาคม 2565 เป็นการหล่อสำเร็จยกมาติดตั้งในสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างทั่วไปที่ทำกัน ส่วนคุณสมบัติของบริษัทผู้รับจ้างที่มาประกวดราคา เราได้กำหนดผู้เจ้าประกวดราคาไว้ว่าต้องมีผลงานการก่อสร้างสะพานในลักษณะเช่นนี้ ไม่น้อยกว่า 500 ล้าน ต่อ 1สัญญา เพื่อนำมาพิจารณาว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งบริษัทนี้มีการจดทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลางชั้นพิเศษด้วย
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวย้ำว่า ต้องดูแลทุกโครงการอย่างเข้มข้นด้วยความละเอียด ไม่ใช่ว่าไม่มีโครงการที่ก่อสร้างในรูปแบบลักษณะเช่นนี้แล้วจะไม่ดูแล ต้องดูทุกโครงการในเรื่องความปลอดภัย ต้องดูมาตรการทุกเรื่อง ทั้งมาตรการทบทวนกระบวรการก่อสร้าง และอื่นๆ ที่ผ่านมากทม.เรามีความเสียหายหนักไปครั้งหนึ่งแล้วที่อุโมงค์บึงหนองบอนซึ่งก็มีปัญหายังทำไม่สำเร็จเลย ก็เป็นบทเรียนที่ สนย.จะทำให้ละเอียดเข้มข้นขึ้น ไม่เฉพาะโครงการของกทม. รวมไปถึงโครงการของหลายหน่วยงานที่ก่อสร้างอยู่อยู่ทั้ง รฟม. การทางพิเศษฯต่างๆ กทม.ในฐานะเจ้าบ้านก็ต้องไปดูเคร่งครัดผู้ที่มาก่อสร้างในพื้นที่เราด้วยและดูโครงการของเราเองให้ดีด้วย ส่วนผู้รับเหมา 2 เจ้านี้จะมีการขึ้นแบล็คลิสต์หรือไม่ต้องไปดูกระบวนการกฎหมาย ซึ่งต้องรู้สาเหตุที่แท้จริงที่เกิดขึ้นก่อน
“เรายืนยันว่ากทม.อยากได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เพราะการก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะมีความเสี่ยงกับประชาชนทั่วไป ต้องดูให้เข้มที่สุด ถ้ามีความผิดจริงต้องไม่ให้เข้ามาประมูลได้อีก ไม่ใช่ทำผิดแล้วคราวหน้ามาทำใหม่” นายชัชชาติ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี