นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการนําเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ประโยชน์ สามารถลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยในปีงบประมาณ 2566 โครงการฯ ได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ 77 จังหวัด
จากการติดตามโครงการฯ รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2565-มิถุนายน 2566) ภาพรวมโครงการทั้งประเทศ พบว่าสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เกษตรกรแล้ว 21,271 ราย (ร้อยละ 85.43 ของเป้าหมาย 24,900 ราย) ซึ่งมีเกษตรกรมาใช้บริการแล้ว 4,878 ราย(ร้อยละ 64.18 ของเป้าหมาย 7,600 ราย) นอกจากนี้ยังเปิดศูนย์บริการอาหารสัตว์ (Feed Center)14 แห่ง โดยผลิตพืชอาหารสัตว์เพื่อให้เกษตรกรใช้เลี้ยงสัตว์ มีเกษตรกรมาใช้บริการแล้ว 993 ราย (ร้อยละ 70.93 ของเป้าหมาย 1,400 ราย)
เบื้องต้นจากการลงพื้นที่ติดตามกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 74 ราย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และจันทบุรี เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า หลังจากการดำเนินโครงการ เกษตรกรสามารถลดรายจ่ายด้านอาหารเพื่อบริโภคและลดรายจ่ายปัจจัยการผลิต เช่น เห็ดตะกร้า พืชผักสวนครัว ผลิตปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์ ลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 1,124 บาท/ครัวเรือน/ปี และสามารถลดค่าใช้จ่ายโดยเปลี่ยนมาใช้บริการยืมเครื่องจักรกลตามโครงการฯ ทดแทนเพื่อจัดการฟางข้าวเป็นอาหารสัตว์ ลดค่าใช้จ่ายได้ 7,425 บาท/ครัวเรือน/ปี ส่งผลให้ภาพรวมทั้ง 2 กิจกรรม สามารถลดรายจ่ายได้ทั้งสิ้น 8,549 บาท/ครัวเรือน/ปี รวมถึงสามารถสร้างรายได้เสริมจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ ผลิตกระถางต้นไม้จากฟางข้าวจำหน่ายในตลาดชุมชน ได้เฉลี่ย 720 บาท/ครัวเรือน/ปี
ทั้งนี้ ภาพรวมโครงการฯ เกษตรกรที่เข้าร่วมมีความพึงพอใจต่อโครงการฯ ในระดับมากที่สุดโดยเห็นว่า สามารถจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดค่าใช้จ่ายจากการจ้างเอกชนมาจัดการวัสดุเหลือใช้ จึงอยากให้มีการสนับสนุนจากโครงการฯ ต่อเนื่อง และต่อยอดจากกิจกรรมที่ทำอยู่เพื่อให้เกิดผลยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างไรก็ดี ในส่วนของกิจกรรมอื่นๆ เช่น การจัดการแปลงเรียนรู้ฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยว และการจัดการวัสดุเหลือใช้โดยยึดแนวคิดระบบธุรกิจปิดวงจรและระบบการจัดการวัตถุดิบเหลือใช้สู่โรงงานแปรรูปเป็นต้นแบบ ทาง สศก.มีแผนจะติดตามประเมินกิจกรรมโครงการฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 ในพื้นที่ จ.ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี และเชียงใหม่ ต่อไป