ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่รายงานจาก บ้านเกาะแต้ว ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา โดยได้พบกับนายมูฮัมหมัด และนางอาซิยะ ลำส่าแหล๊ะ สองสามีภรรยาเกษตรกร คิดต่างจากเกษตรกรทั่วไปปลูกผักสลัดในถุงพลาสติก ซึ่งใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อย การจัดการง่ายไม่ยุ่งยาก ปลูกผักเพียง 40 วัน เก็บผลผลิตบริโภคและจำหน่ายได้ นายมูฮัมหมัดกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าการปลูกผักสลัดของตน จะแตกต่างจากเกษตรกรทั่วไปที่ส่วนใหญ่ปลูกผักสลัดเป็นผักไฮโดรโปนิกส์ หรือบางคนปลูกบนแคร่ผัก แต่การปลูกผักสลัดของตนนั้น จะสร้างโรงเรือนเล็กๆ และทำชั้นวาง จากวัสดุที่หาได้ในครัวเรือน มาทำเป็นชั้นวางถุงปลูกผัก และตนใช้ถุงพลาสติกสีดำขนาด 6 นิ้ว เป็นภาชนะปลูก ซึ่งวัสดุที่ปลูกของตนนั้นจะไม่ใช้ดิน ใช้เพียงเศษหญ้าแห้งบด มูลสัตว์ และถ่านไม้ ผสมรวมกันและใส่ถุงพลาสติกสีดำ ทำให้ต้นทุนการผลิตน้อยมาก หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่มก่อนนำกล้าผักสลัดลงปลูก ถุงละ 1 ต้นรดน้ำตอนเช้าทุกวัน และเสริมด้วยการรดปุ๋ยน้ำหมักที่ผลิตขึ้นมาเอง เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้กับผัก และใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผักจะเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งการปลูกผักสลัดของตนนั้นไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีใดๆ เลย ทำให้ผลผลิตปลอดภัยแน่นอน ทุกวันนี้ตนและภรรยาจะปลูกผักสลัดจำนวนหลากหลายชนิด ประกอบด้วย เรดโอ๊ค คอส ฟิลเลย์ บัตเตอร์เฮด ประมาณ 500 ถุงหรือ จำนวน 500 ต้น หลังปลูกประมาณ 40 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตบริโภคและจำหน่ายได้แล้ว